วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ จัดใหญ่ ประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชียและการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 “ทบทวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกอิสลามในยุคปัจจุบัน”
ศ.ดร. นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก เป็นประธานเปิดงาน ประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชียและการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ทบทวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลกอิสลามในยุคปัจจุบัน” โดยมีอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บูรไน และมัลดีฟส์ มาร่วมงานกว่า 10 สถาบัน และมีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศมาร่วมงานกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2566
ศ.ดร. นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก เปิดเผยว่า “การจัดประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้รับเกียรติจากสมาชิก AIUA (Asian Islamic University Association) ทั้ง 84 มหาวิทยาลัย โดยผู้แทนของมหาวิทยาลัยเกริก ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และอาจารย์อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริกและรองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เป็นผู้เสนอให้มหาวิทยาลัยเกริกเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม และสมาชิกของ AIUA มีมติสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกริกเป็นสมาชิกถาวรพร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้เมื่อคราวประชุมใหญ่ AIUA ณ ประเทศบรูไนเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญภายใต้บริบทการนำของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ กับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ระดับนานาชาติ
สำหรับมหาวิทยาลัยเกริก มองว่าการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดียิ่งต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ คือ 1. ได้ความรู้ และแนวความคิดที่เป็นมุมต่าง ทั้งในด้านศาสนา และธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละประเทศ ทั้งในการบูรณาการร่วมกัน ที่อาจต่อยอดเป็นความรู้ใหม่ๆ 2.ได้แลกเปลี่ยนทำความรู้จักประเพณีวัฒนธรรมที่มีความต่างกัน ผ่านความร่วมมือในเครือข่าย เป็นการขยายวงกว้างทางการศึกษา และยังเกิดประโยชน์ในด้านความเข้าใจกันระหว่างประเทศ ศาสนา อันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เติบโตแข็งแรง มีความพร้อมในทุกด้าน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกริกเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความพร้อมในการยืดหยุ่นให้ทันเหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านต่างๆ จึงได้จัดตั้ง 3 สถาบันเพื่อรองรับ ได้แก่ สถาบัน Thai China Asian เพื่อรองรับเส้นทางภาคธุรกิจเกี่ยวกับโครงการ one belt one road , สถาบันบริหารจัดการภัยพิบัติ เพื่อศึกษาผลกระทบจากภัยพิบัติ ว่าควรรับผิดชอบและช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นอย่างไร , สถาบันพัฒนาภาวะผู้นำ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรไปสู่โลกภายนอก ให้มีคุณสมบัติทางคุณวุฒิและภาวะผู้นำที่พร้อมในการเข้าสู่สังคมต่อไป” ศ.ดร. นายแพทย์กระแส กล่าว
ด้าน ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า “ AIUA (Asian Islamic University Association) หรือ สมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชีย” นี้ นับว่าเป็นองค์กรที่ใหญ่และมีศักยภาพมาก โดยสิ่งที่เราได้จากการประชุมครั้งนี้ ที่เห็นได้อย่างแรก คือ มหาวิทยาลัยเกริก มีโอกาสได้ร่วมเป็นหนึ่งในสถาบันของโครงการที่มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาโครงการในการจัดทำงานวิจัยร่วมกัน ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆทางการศึกษา ทั้ง การแลกเปลี่ยนความรู้ นักศึกษา อาจารย์ และการบรูราการร่วมในการต่อยอดความรู้และเพิ่มคุณวุติด้านต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ตลอดจนเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆในอาเซียน
จากที่เห็นได้ว่า “การขับเคลื่อนของวิทยาลัยนานาชาติอิสลาม มีอยู่อย่างต่อเนื่องดังที่เห็นว่า มีนักศึกษาจากประเทศต่างๆเข้ามาเรียนมากขึ้น โดยปัจจุบันเรามีนักศึกษาที่มาจากนานาประเทศ เช่น จากเมียนมา บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และซาอุดิอาระเบีย ศึกษาอยู่ 80 คน ซึ่งมีการเรียนการสอนทั้งภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน หรือ Mandarin เบื้องต้น และยังมีการขยายความร่วมมือระหว่างกันโดยเฉพาะเรื่องของการศึกษากับเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามกับผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้จะอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย ที่เชื่อมโยงด้วยความงดงามของมิตรภาพโดยมีการศึกษาเป็นแกนหลักสำคัญ” ศ.ดร.จรัญ กล่าว
ขณะที่ Prof. Dr. H. Mujiburrahman, M.A.President, Asian Islamic Universities Association (AIUA) กล่าวเพิ่มเติมว่า “AIUA” เกิดขึ้นเมื่อปี 2010 โดยเป็นองค์กรความร่วมมือโดยเฉพาะทางด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยน การศึกษาในหมู่มหาวิทยาลัยอิสลามในทวีปเอเชีย สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นวัตถุประสงค์หลักๆ คือ 1.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการประกันคุณภาพตามกรอบของ AIUA ซึ่งเรามีมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเอเชียขณะนี้ 84 แห่ง 2.จัดการลงนามของมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้ AIUA กับมหาวิทยาลัยเกริก และ 3. การร่วมจัดสัมมนากับมหาวิทยาลัยเกริก
“AIUA เป็นองค์กร Exclusive ที่ต้อนรับสถาบันการศึกษาที่มีความคิดและเป้าหมายในการร่วมมือกันสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการในทวีปเอเชียและทั้งโลก ปัจจุบันโลกกำลังกลายเป็น Global Village การศึกษาก็ควรไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างชานชาลาความร่วมมือทางการศึกษา เช่น ภาคการศึกษาที่ 1 เรียนที่มหาวิทยาลัยเกริก ภาคการศึกษาที่ 2 ไปเรียนที่อินโดนีเซีย ภาคการศึกษาที่ 3 ไปเรียนที่มัลดีฟ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือและเป็นความตั้งใจ ซึ่งการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ในอนาคตสามารถททำให้เกิดความร่วมมือกับสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดในเอเชียให้สามารถทำเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างความร่วมมือการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ และย้ำว่า certificate ของหลักสูตรก็สามารถเป็น certificate ของโครงการแต่ละมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งในอนาคตโครงการแต่ละโครงการที่จัดโดยมหาวิทยาลัยก็จะเป็นที่ยอมรับของแต่ละสถาบันแต่ละมหาวิทยาลัย นี่คือภาพรวม” Prof. Dr. H. Mujiburrahman กล่าว
.