สถาบัน Gen.Ed. ร่วมกับฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานเสวนา “Innovative Education 2024” รวมคณาจารย์ นักศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน หัวข้อ “Transformative Learning และ Outcome Base Learning” เพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัยด้วยกระบวนการเรียนการสอนที่พร้อมพัฒนาศักยภาพและความสามารถของนักศึกษาใหม่ปี 2567
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายด้านการเรียนการสอนตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยว่าด้วยการสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาการผลิตบัณฑิต “ความตั้งใจพลิกโฉมมหาวิทยาลัยรังสิตให้เป็นสถานที่สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้รอบด้านไปพร้อมกับยกระดับสมรรถนะองค์กร เพราะหัวใจของมหาวิทยาลัยรังสิต คือ นักศึกษา ดังนั้นเรามีความมุ่งมั่นให้ที่นี่เป็นขุมพลังแห่งปัญญา เป็นมหาวิทยาลัยชี้นำสังคม จุดประกายและต่อยอดความฝันของทุกคนให้เป็นจริง การระดมพลังสมองเพื่อสร้างสรรค์แนวทางความคิดให้กับทีมคณาจารย์ร่วมกันสร้างสรรค์รูปแบบและกระบวนการเรียนการสอนแห่งการเรียนรู้แบบใหม่ของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยเน้นนวัตกรรมการศึกษา “Innovative Education” ผ่านรูปแบบความสำเร็จของนักศึกษา “Transformative Learning และ Outcome Base Learning” ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถนะ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของอาจารย์ผู้สอนให้ดียิ่งขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันระหว่างวิทยาลัย/คณะ เพื่อให้อาจารย์สามารถนำความรู้ไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยความร่วมมือจากผู้บริหารและอาจารย์ทุกท่านของทุกหน่วยงาน พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป”
ผศ.ดร. ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ให้แนวคิด Innovative Education ว่า “การแลกเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนร่วมกันในระดับองค์กรเป็นการบูรณาการเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีศักยภาพ และความสามารถ มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยได้มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ 1. สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ 2. วิจัยและนวัตกรรม 3. องค์กรที่มีความสมาร์ท 4. มีความเป็นสากล และ 5. สร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียง โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นตัวนำไปสู่หมุดหมายเพื่อชี้นำสังคม อาทิ พัฒนาคุณภาพชิตลดความยากจน เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สร้างกำลังคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาการแพทย์และ
สุขภาพที่มีมูลค่าสูง สร้าง Soft Power ต้นแบบของประเทศ และเป็นหมุดหมายของนักศึกษานานาชาติ ดังนั้นรูปแบบ Transformative Learning เรียกได้ว่าเป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับการสอนแบบปกติ นักศึกษาที่ได้รับการสอนแบบนี้จะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อเติบโตทั้งด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติในตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเองในระยะยาว และการประกอบวิชาชีพให้สำเร็จได้”
ในส่วนของ ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้แนวทางของ Innovative Education ต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นหรือมุมมองของนักศึกษากระบวนการเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการสังเคราะห์ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของอาจารย์ ทำให้นักศึกษาต้องพัฒนาทักษะหรือความสามารถใหม่เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในปี 2567 มหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งเน้นสร้างศักยภาพและความสามารถนักศึกษา ด้วย PLO หรือ “Program Learning Outcomes” ผลลัพธ์การเรียนรู้ของโปรแกรมการเรียนแต่ละชั้นปีการศึกษา ซึ่งเป็นการกำหนดสิ่งที่นักศึกษาควรจะรู้ เข้าใจ และสามารถทำได้หลังจากสำเร็จการศึกษาในโปรแกรมการเรียนนั้นๆ ประกอบกับ YLO หรือ “Year Learning Outcomes” ซึ่งหมายถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละปีการศึกษาของแต่ละหลักสูตร ผลลัพธ์การเรียนรู้ประจำปี YLO) เป็นการระบุสิ่งที่นักเรียนควรจะบรรลุหรือสามารถทำได้หลังจากจบปีการศึกษา โดยผลลัพธ์การเรียนรู้ของโปรแกรม PLO และ YLO จะนำมากำหนดและออกแบบโดยทีมคณาจารย์ของแต่ละสาขาวิชาในคณะ/วิทยาลัย/สถาบัน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นตามที่โปรแกรมการเรียนรู้ และประสบความสำเร็จสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามที่กำหนดไว้
อาจารย์วิทูล ทิพยเนตร คณบดีสถาบัน Gen.Ed. ให้มุมมองเกี่ยวกับทำไมต้องจัดการเรียนรู้รูปแบบ Innovative Education โดยเป็นไปตามวิสัยทัศน์และนโยบายการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ต้องการสร้างศักยภาพนักศึกษา จึงมีการเน้นที่ตัวนักศึกษาเป็นหลัก Transformative Learning และ Outcome Base Learning เพื่อสร้าง Student Experience ให้มีสมรรถนะแบบเด็ก ม.รังสิต Long Term Goals – RSU Character ซึ่งทุกรายวิชาพื้นฐานนักศึกษาจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงระดับสติปัญญา นักศึกษาและอาจารย์มีการสร้าง Good Practice ร่วมกัน เกิดเป็น Outcome-based Learning (OBL) ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบเน้นผลลัพธ์ โดยทีมคณาจารย์จะมีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาบรรลุผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงสามารถแสดงออกถึงความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่าง ๆ เมื่อจบโปรแกรมการเรียนของแต่ละหลักสูตร การร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักศึกษามีทิศทางการเรียนรู้ที่ชัดเจนในแต่ละปีการศึกษา และช่วยให้ผู้สอนสามารถวางแผนการสอนและประเมินผลการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการออกแบบ Sandbox Model แนวคิด
หรือวิธีการในการสร้างสภาพแวดล้อมต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา พื้นที่ที่นักศึกษาสามารถทดลองสร้างสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงาน การสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างนักศึกษา อาจารย์ แม้กระทั่งการแบ่งปันข้ามศาสตร์ คณะ และวิทยาลัย เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับการจัดการเรียนการสอนที่เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จจากวิทยาลัย/คณะ มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้โครงการ Innovative Education รูปแบบ Transformative Learning และ Outcome Base Learning และได้นำองค์ความรู้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันในครั้งนี้ ได้แก่ โมเดลตัวอย่าง Sandbox จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โมเดลตัวอย่าง PLO – YLO ที่มีความน่าสใจ อาทิ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร หลักสูตรบัญชีบัณฑิต สาขาวิชาบัญชี หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารการตลาดดิจิทัลและแบรนด์ดิ้ง หลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์อาร์ต หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) รวมถึงทิศทางการจัดการเรียนการสอนของสถาบัน Gen.Ed. ในปี 2567 เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลของนวัตกรรมการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยในใจของนักศึกษา และพร้อมนำพานักศึกษาทุกคนออกไปสู่การเป็นบัณฑิตที่พร้อมเติบโตและเผชิญโลกความจริงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นบัณฑิตที่มีพลังความคิดในการชี้นำสังคมและพัฒนาประเทศชาติต่อไป
#สำนักข่าวการศึกษาไทย