มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงานสัมมนา “สถานการณ์ความเป็นผู้ประกอบการไทยและโลก ประจำปี 2567 (GEM Report 2024)” ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลตามแนวทาง GEM (Global Entrepreneurship Monitor) งานสัมมนาที่รวบรวมผลการศึกษาวิจัยการประเมินสังคมความเป็นผู้ประกอบการ โดยใช้ข้อมูล GEM (Global Entrepreneurship Monitor) จากประเทศต่างๆ ที่ใช้ร่วมกันในกลุ่มสมาชิก GEM ทั่วโลก รวมทั้งศึกษาทัศนคติ ปัจจัยแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชากรในกิจกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อใช้เป็นแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย หรือ MSMEs ให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ดร.กัญจนา พัฒนวรพันธุ์ รองคณบดีคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า การสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises) ของประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมผู้ประกอบการ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการต้องเข้าใจถึงปัจจัยและเงื่อนไขพื้นฐานที่จะช่วยเสริมสร้างและสนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการไทยด้วย
ดร.กัญจนา กล่าวต่อว่า การเริ่มต้นหรือพัฒนาธุรกิจ ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการริเริ่มธุรกิจ กระบวนการเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสถานภาพของสังคมผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ตลอดจนเป็นแนวทางและปัจจัยในการเสริมสร้างสังคมผู้ประกอบการและการสร้างสังคมผู้ประกอบการใหม่ให้ได้เป้าหมาย มีคุณภาพและการเติบโตที่มั่นคง
ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า จากผลการศึกษา GEM 2024 หรือ GEM ปี 2567 พบว่า ประเทศไทยมีระดับกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการในระดับที่สูง คือ อยู่ที่ระดับ 34% โดยมีอัตรากิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการในระยะเบื้องต้นโดยรวม (TEA) หรือระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยในการก่อตั้งธุรกิจใหม่ถึง 20% ซึ่งอาจเป็นผลมาจากทัศนคติของประชากรต่อความเป็นผู้ประกอบการ และการมีส่วนร่วมของคนไทยในกระบวนการก่อตั้งธุรกิจใหม่ยังคงเป็นเชิงบวก และมองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังมีปัจจัยพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม และมาตรการสนับสนุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบที่น่าสนใจที่จะนำเสนอผลการศึกษาในปีนี้ ประการแรก คือ สรุปผลการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ด้านการเงิน ด้านนโยบายภาครัฐ ด้านโครงการพัฒนาธุรกิจ ด้านการสำรวจตลาด เป็นต้น พร้อมทั้งการวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับผลการสัมภาษณ์ในปีก่อนหน้าทั้งในส่วนของประเทศไทย และประเทศสมาชิกอื่นๆ และประการที่สอง คือ ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 ตัวอย่าง การวิเคราะห์เทียบกับประเทศต่างๆ ในเชิงลึกมากขึ้น เช่น พฤติกรรมการเป็นผู้ประกอบการของผู้ชายและผู้หญิง อัตราการอยู่รอด หรือการที่มีการดำเนินกิจการเกิน 3 – 5 ปี แรงจูงใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการ การใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการดำเนินกิจการ พฤติกรรมในการส่งออก เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ทางคณะผู้วิจัยจาก คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะได้นำเสนอในลำดับต่อไป
การสร้างสังคมผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ โดยเฉพาะปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทั้งระดับมหภาคและระดับปัจเจกชน ซึ่งการศึกษาทำความเข้าใจกับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินงานในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ บังเกิดผล ซึ่งสสว. และคณะผู้วิจัยพร้อม ที่จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ เพื่อนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติม และปรับปรุงให้แนวทางการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป