จุฬาฯ วิจัยเจาะลึกชีวิตนักเรียนอาชีวะและเส้นทางสู่แรงงานอาชีวศึกษา ชี้เอกลักษณ์แรงงานอาชีวะไทยถูกใจผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ ทักษะฝีมือเฉพาะทางไม่เป็นสองรองใครใน เวทีโลกหากได้รับการฝึกฝนพัฒนาอย่างจริงจัง
เมื่อกล่าวถึง “นักเรียนอาชีวะ” ภาพที่ผุดขึ้นในใจของหลายคนอาจไม่สู้ดีนัก เป็นภาพความรุนแรง การทะเลาะวิวาท ตลอดจนอาชญากรรม ข่าวลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบแบบเหมารวมกับนักเรียนอาชีวะและแรงงานสายอาชีวะ ทั้ง ๆ ที่ในหลายโอกาส นักเรียนอาชีวะก็ใช้ทักษะและความรู้ทำประโยชน์ให้ชุมชนและสังคมด้วยเช่นกัน แต่มักไม่เป็นข่าว
ภาพลักษณ์เชิงลบเกี่ยวกับนักเรียนอาชีวะที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอาชีวศึกษาไทยที่รอบด้าน ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากไม่นิยมเลือกเรียนสายอาชีพ ปัจจุบันเราจึงเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานทักษะมีฝีมือจากอาชีวศึกษาในหลายอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
“นักเรียนอาชีวะและแรงงานทางด้านอาชีวศึกษาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ถือเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ และมีศักยภาพในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง” รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานอาชีวศึกษาไทย
ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม “คนไทย 4.0” (เท่าทันโลก มีคุณธรรม และสมรรถนะ) รศ.ดร.จุลนี พร้อมด้วยดร.กุลนิษฐ์ สุธรรมชัย และคณะ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทยใน 3 อุตสาหกรรมหลัก: การวิเคราะห์ผ่านแผนที่เส้นทางการก้าวเข้าสู่แรงงานอาชีวศึกษาไทย ภายใต้แนวคิดความปกติใหม่” ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึง พฤษภาคม 2565 ซึ่งผลการศึกษาวิจัยสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาไทย จุดเด่น-เอกลักษณ์อาชีวะไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน ซึ่งน่าส่งเสริมยกระดับให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อพัฒนาแรงงานสายอาชีพของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ทักษะ (Up-Skill) และการสร้างอาชีพใหม่ เป็นต้น (อ่านผลงานวิจัยฉบับย่อและฉบับเต็ม ดูลิงก์ด้านล่าง)
งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดี สาขาสังคมวิทยา ประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“เราต้องการฉายภาพลักษณ์ในเชิงบวก จุดแข็ง และเอกลักษณ์ของแรงงานอาชีวศึกษาไทย ที่มาจากมุมมองของ “คนใน” เพื่อให้สังคมเห็นภาพของอาชีวศึกษาที่รอบด้านมากขึ้น ที่ไม่ได้มีเพียงการทะเลาะวิวาท ดังในภาพข่าว” รศ.ดร.จุลนีเผยความตั้งใจในการทำวิจัย
วิจัยเชิงคุณภาพ เพื่ออาชีวะยกระดับเศรษฐกิจไทย
ที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยในกลุ่มประชากรและแรงงานด้านอาชีวศึกษาส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ ยังขาดงานวิจัยเชิงคุณภาพ ที่เจาะลึกมุมมองของนักเรียนอาชีวะ แรงงานจากสายอาชีวศึกษา และนายจ้างที่รับผู้จบอาชีวศึกษาเข้าทำงาน หรือกล่าวได้ว่า ยังขาดการวิจัยที่ชี้ให้เห็นตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ต้นทางของการเริ่มเข้าสู่การเรียนอาชีวศึกษา ไปจนถึงการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้น ในการวิจัยชิ้นนี้ รศ.ดร.จุลนีและคณะวิจัยจึงเน้นการศึกษาแบบเจาะลึกเพื่อให้ได้มุมมองจาก “คนใน” 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1) กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาที่กำลังศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อายุ 18 ปี ขึ้นไป
2) กลุ่มแรงงานอาชีวศึกษา ที่เรียนจบแล้ว อายุระหว่าง 19-49 ปี และทำงานใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
3) กลุ่มนายจ้างที่รับผู้จบการศึกษาอาชีวะเข้าทำงาน
ผู้ให้ข้อมูลงานวิจัยทั้ง 3 กลุ่มมีจำนวนทั้งสิ้น 177 คน จากพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี และสงขลา นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังได้ศึกษากลุ่มคนรอบข้างแรงงานอาชีวศึกษา ได้แก่ ครอบครัวของนักเรียนอาชีวศึกษา และผู้นำชุมชนในจังหวัดที่มีการเก็บข้อมูลกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้วย
การเก็บข้อมูลการวิจัยอาศัยเทคนิควิจัยทางมานุษยวิทยา ทั้งจากการสัมภาษณ์ประวัติชีวิตและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก รวมทั้งการใช้เทคนิคแผนที่เส้นทาง (Journey Map) ด้วยกระบวนการ Design Thinking และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ
“ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาวิเคราะห์จุดแข็ง คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนช่องว่างทางทักษะ (Skills Gap) ของกลุ่มแรงงานสายอาชีพของไทย ทั้งจากมุมมองของคนใน และมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจจากบริษัท/องค์กรภายในประเทศและระหว่างประเทศที่รับแรงงานอาชีวศึกษาเข้าทำงาน”
อะไรจูงใจให้นักเรียนเลือกสายอาชีวศึกษา
ผลการวิจัยเผยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนด้านอาชีวศึกษาของนักเรียน ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ การรู้จักตัวเองว่ามีความชื่นชอบและสนใจการเรียนอาชีวะซึ่งเน้นการลงมือปฏิบัติ และมีเป้าหมายอาชีพในอนาคตชัดเจน
ส่วนปัจจัยภายนอก อาทิ คนรอบตัว โดยเฉพาะครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนอาชีวะ การเห็นโอกาสที่จะได้งานทำหลังเรียนจบ สามารถหารายได้พิเศษระหว่างเรียน เหตุผลด้านการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ไม่เป็นภาระครอบครัว การได้รับทุนการศึกษา การได้รับคำแนะนำจากครูแนะแนว และการประชาสัมพันธ์จากสถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสถาบันอาชีวศึกษาและบริบทพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เด่นในเรื่องการท่องเที่ยว จะมีนักเรียนที่อยากเรียนสาขาการท่องเที่ยว เป็นต้น
จุดเด่นนักเรียนอาชีวะ: ความรู้คู่ทักษะ ประสบการณ์เพียบ
รศ.ดร.จุลนีกล่าวว่าอาชีวศึกษาเป็นทางเลือกที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าการเรียนสายสามัญเลย หรืออาจจะได้เปรียบกว่าด้วยซ้ำ เมื่อเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในปีที่ทำวิจัย สายอาชีวศึกษาในประเทศไทยมีการเรียนการสอนกว่า 11 ประเภทวิชา และจำนวนสาขาวิชาที่เปิดสอนกว่า 93 สาขาวิชา ซึ่งสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้หลากหลาย ปัจจุบันมีถึง 102 สาขาวิชา
“อาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง นักเรียนสายอาชีวศึกษามีทั้ง “ความรู้” และ “ทักษะ” ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ผ่านการเรียนรู้แบบ “ฝึกฝนลงมือทำ” จึงเกิดทักษะ ทั้ง “Hard Skills และ Technical Skills” รศ.ดร.จุลนีกล่าวจุดเด่นของการเรียนอาชีวะ
นอกจากนั้น ด้วยความที่ได้รับโอกาสในการฝึกฝนลงมือปฏิบัติทั้งในโรงเรียนและในสถานประกอบการ นักเรียนอาชีวะจึงได้พัฒนาทักษะและสมรรถนะสำคัญ (Soft Skills) ที่ไม่ใช่ทักษะอาชีพโดยตรงด้วย เช่น ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ ความเข้มแข็งอดทน การรับมือกับความกดดันในโลกแห่งความเป็นจริง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ การมีใจรักในการให้บริการ – ทักษะเหล่านี้เสริม “ความพร้อม” และ “ความชำนาญ” ในการปฏิบัติงาน ซึ่งทำให้นายจ้างและผู้ประกอบการมั่นใจที่จะจ้างงานนักเรียนอาชีวะ ด้วยความเชื่อมั่นว่านักเรียนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้เร็วและต่อยอดงานได้ทันที
“อาชีวศึกษานั้นไม่ได้เรียนง่ายและไม่ได้ด้อยกว่าสายสามัญ อาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง และนักเรียนจะได้พัฒนาตัวเองในหลากหลายทักษะ ซึ่งเมื่อเรียนจบก็สามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเติบโต ในเส้นทางอาชีพของตนเองได้”
เอกลักษณ์โดดเด่นของแรงงานอาชีวศึกษาไทย ต้องใจทั่วโลก
แรงงานอาชีวศึกษาไทยมีเอกลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับและต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ดร.จุลนีกล่าวว่า ได้มาจากบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยนั่นเอง
“แรงงานอาชีวะศึกษาของไทยไม่เป็นสองรองใครในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ลักษณะงานต้องใช้ทักษะฝีมือและความชำนาญสูง แรงงานอาชีวศึกษาไทยจะยิ่งมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ อาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ศิลปกรรม และอาหาร แรงงานอาชีวศึกษาไทยมีทักษะฝีมือดี จนบริษัทต่างชาติให้การยอมรับและจ้างไปทำงาน”
“สิ่งที่แรงงานอาชีวะของไทยแตกต่างจากแรงงานอาชีวะจากประเทศอื่น ได้แก่ การมีความคิดในการประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์หรือดัดแปลงใหม่ให้ตอบโจทย์บริบทของท้องถิ่นมากขึ้น”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว แรงงานอาชีวะไทยจัดได้ว่ามีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาด
“การไหว้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ไทยเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างแรงงานชาวไทยกับแรงงานชาติอื่นๆ เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ ส่งผลให้แรงงานไทยมีคุณลักษณะที่ส่งผลดีต่อการทำงานในสายอาชีพ เช่น การรับมือกับลูกค้าด้วยความสุภาพ นอบน้อม มีสัมมาคารวะกับรุ่นพี่หรือนายจ้าง เรามีความเป็นมิตรที่สร้างความรู้สึกอบอุ่น เป็นผู้ที่กินอยู่ง่าย ไม่คิดเล็กคิดน้อยในหน้าที่การทำงานและเงิน แรงงานอาชีวศึกษาชาวไทยสามารถทำงานเกินเวลาหรือเกินหน้าที่ไปบ้าง โดยคิดว่าเป็นน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้นายจ้างประทับใจ และกลายเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากแรงงานชาติอื่น ๆ”
จากจุดเด่นที่มาจากต้นทุนทางวัฒนธรรม รศ.ดร.จุลนีกล่าวแนะว่า “หากนักศึกษาและแรงงานอาชีวะไทยได้รับการสนับสนุนโดยการเพิ่มทักษะความรู้เฉพาะทางของแต่ละสาขา รวมถึงการสื่อสารภาษาต่างประเทศ และการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้นักเรียนและแรงงานอาชีวะไทยมีความโดดเด่นอย่างก้าวกระโดด”
ปัญหาและอุปสรรคบนเส้นทางอาชีวศึกษา
งานวิจัยชี้ให้เห็นปัญหาและอุปสรรคหลายประการสำหรับนักเรียนอาชีวะ ตั้งแต่การเรียนอาชีวะ จนไปถึงการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ปัญหาด้านการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในสถาบัน เนื่องจากงานวิจัยนี้ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนธันวาคม 2563 – พฤษภาคม 2565 ซึ่งยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปัญหาที่พบจึงมีดังต่อไปนี้
อุปกรณ์การเรียนการสอน อาทิ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ชำรุดหรือตกรุ่นไปแล้ว ไม่มีสื่อการสอน ที่หลากหลายและเหมาะสม ไม่มีห้องปฏิบัติการจำลองการทำงานเสมือนจริง หรือมีแต่ไม่ครบถ้วน
หลักสูตร วิชาสามัญเน้นการท่องจำและสั่งงานมากกว่าวิชาหลักในสายอาชีพ รายวิชามีเนื้อหาไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บางรายวิชามีเนื้อหาที่ยากเกินความจำเป็น ฯลฯ
ครู มีไม่เพียงพอ ไม่มีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน ขาดทักษะทางเทคโนโลยี
ตัวนักเรียน เช่น ต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ ฯลฯ จนทำให้ขาดการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์
นอกจากปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนแล้ว งานวิจัยยังชี้ให้เห็นปัญหาการลาออกระหว่างเรียน ซึ่งมีหลายสาเหตุเป็นต้นว่า นักเรียนเพิ่งมาค้นพบในภายหลังว่าสาขาที่เลือกเรียนนั้นไม่ถนัดและไม่ตรงตามบุคลิกภาพ หรือจริตนิสัยของตนเอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิดและการไม่มีข้อมูลหรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาขาที่ตนเลือกมาเรียน นักเรียนไม่ทราบถึงความชอบและความถนัดของตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งเกิดจากการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ปัจจัยทางด้านครอบครัวมีฐานะยากจนลำบาก และปัจจัยเกี่ยวกับครูหรือโรงเรียน
ส่วนปัญหาอุปสรรคที่แรงงานอาชีวศึกษาพบในช่วงการทำงาน หนีไม่พ้นเรื่องผลกระทบจากภาพลักษณ์ในแง่ลบของอาชีวศึกษา ทำให้ถูกตีตรา ถูกสบประมาทแบบเหมารวมตามภาพจำเกี่ยวกับนักเรียนอาชีวศึกษา รวมทั้งถูกลดทอนคุณค่าว่าด้อยกว่าคนที่จบสายสามัญและมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษา เช่น วุฒิที่ได้/สาขาที่เรียนไม่ตรงกับความต้องการตลาดและไม่ตรงกับวุฒิที่ประกาศรับสมัครงาน วุฒิที่ได้รับจากอาชีวศึกษามักไม่เพียงพอให้สามารถเลื่อนตำแหน่งสูง ๆ ต้องอาศัยการพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก ผลกระทบจากนายจ้าง เช่น ถูกกดเงินเดือน นายจ้างไม่มั่นใจว่าจะมีทักษะความรู้มากพอที่จะทำงานได้ นายจ้างคาดหวังสูงว่านักเรียนอาชีวศึกษาจะทำงานเป็นทุกอย่าง ฯลฯ
แม้จะมีอุปสรรคนานาดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่นักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาจำนวนไม่น้อย ก็พยายามพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้แหล่งข้อมูลความรู้หลายช่องทาง ทั้งการใช้สื่อออนไลน์ เช่น Google, YouTube อ่านตำรา เอกสาร หนังสือ สอบถามครูอาจารย์ รุ่นพี่ที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน หัวหน้างาน และเพื่อนในสาขาอาชีพเดียวกันที่ทำงานอยู่คนละที่
“นักเรียนอาชีวะมองว่าการเข้าร่วมการแข่งขันทักษะฝีมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ภาค ประเทศ หรือระดับระหว่างประเทศ เป็นช่องทางในการพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ยังมีการใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างสังคมการเรียนรู้ เช่น การสร้าง LINE Group หรือ Facebook Page Group เพื่อการรวมตัวกันของช่างในแต่ละสาขา
แนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษาไทย
ผลการวิจัยได้ให้ข้อเสนอโดยภาพรวม ที่จะช่วยให้อาชีวศึกษาไทยพัฒนาไปได้มากกว่านี้ และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาให้ดียิ่งขึ้นในสังคม เป็นต้นว่า
- สร้างสถาบันอาชีวศึกษาเฉพาะทางของสาขาอาชีพและพัฒนาให้โดดเด่น ได้มาตรฐานนานาชาติและมีชื่อเสียงระดับโลก
- เพิ่มการออกข่าวในด้านดีและความสำเร็จของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้คนในสังคมเห็นความสามารถของนักเรียนอาชีวศึกษาในแขนงต่าง ๆ รวมทั้งการนำผลงานของนักเรียนที่ไปประกวดชนะการแข่งขันในระดับต่าง ๆ มานำเสนอให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพิ่ม ช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชน ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่ไม่ใช่แค่ข่าวโทรทัศน์ อาจจะเป็นสื่อในรูปแบบละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ต่าง ๆ ที่สอดแทรกบทบาทของอาชีวศึกษาในทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
- มีระบบการดูแลสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่มีฝีมือหรือเคยชนะการประกวดได้รางวัลให้ได้ทำงานกับองค์การระดับต้น ๆ ของไทย หรือให้ทุนไปดูงานในต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้นำความรู้มา ต่อยอดได้
- สร้างความผูกพันระหว่างอาชีวศึกษากับชุมชน ผ่านการส่งเสริมให้อาชีวศึกษากับชุมชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
นอกจากนี้ รศ.ดร.จุลนีได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐและเอกชน อาทิ
ด้านงบประมาณ รัฐควรให้การสนับสนุนสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในด้านงบประมาณ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็นและมีความทันสมัย ตลอดจนให้ทุนการศึกษา
ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ควรให้ความสำคัญกับการสอนภาษาต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้จริง โดยเฉพาะทักษะการพูด สนับสนุนการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่หลากหลายและตอบโจทย์ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ทั้งนี้ หลักสูตรอาชีวศึกษาควรมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ควรให้สถานประกอบการเข้ามามี ส่วนร่วมในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและมาเป็นวิทยากรพิเศษสอนนักเรียนในสถาบันอาชีวศึกษา
“การเรียนรู้ด้วยการทำโครงงาน (Project-based Learning) และการเรียนรู้โดยการแก้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) จะช่วยให้นักเรียนรู้จักเชื่อมโยงความรู้จากหลากหลายวิชา และพัฒนาทักษะอื่น ๆ โดยครูต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือผู้อำนวยการเรียนรู้ ไม่ควรสอนให้นักเรียน “ทำเป็น” หรือ “ใช้งานอุปกรณ์เป็น” เพียงอย่างเดียว แต่ควรสอนให้เข้าใจหลักการและภาพกว้างของงานทั้งหมด การคิดวิเคราะห์ วางแผน แก้ไขปัญหา และกระตุ้นให้นักเรียนนำหลักการไปคิดต่อยอดองค์ความรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้มากขึ้น”
นอกจากนี้ รศ.ดร.จุลนีได้กล่าวเพิ่มเติมว่าภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสถาบันอาชีวศึกษา ควรร่วมมือกันสร้างระบบที่เป็นโปรแกรมพัฒนาและดูแลนักเรียนอาชีวะผู้มีศักยภาพ (Talent Incubation) ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถติดตามแรงงานอาชีวศึกษาที่ประสบความสำเร็จให้กลับมาเป็นรุ่นพี่ที่ให้ข้อมูลรุ่นน้อง เป็นการสร้าง Role Model สร้างแรงจูงใจจากผู้ประสบความสำเร็จจริง และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาชีวศึกษาได้อีกทางหนึ่งด้วย
สื่อสาร เพิ่มความเข้าใจอาชีวศึกษาไทย
สุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งคือรัฐบาลและสถานศึกษา ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาที่ถูกต้องและครอบคลุม
“ควรมีการให้ข้อมูลเรื่องหลักสูตรการศึกษา รายละเอียดการเรียนการสอน โอกาสในการมีงานทำ โอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และโอกาสในการศึกษาต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูมัธยมศึกษา ครูแนะแนวควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาขาและการเรียนอาชีวศึกษา เพื่อที่จะให้คำแนะนำกับนักเรียนได้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ทำให้นักเรียนเลือกเรียนผิดสาขาหรือไม่ตรงกับความชอบความถนัดของตนเอง”
ดังนั้นการสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ที่แท้จริงของอาชีวศึกษาไทยอย่างลึกซึ้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งผู้ที่มีบทบาทด้านสื่อสามารถนำข้อมูลจากงานวิจัยนี้ไปใข้เพื่อทำให้สังคมไทยมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาชีวศึกษาอย่างไม่มีอคติหรือภาพการเหมารวม อันจะนำไปสู่การปรับภาพลักษณ์ใหม่ (Rebranding) ให้กับอาชีวศึกษาในอนาคต
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลงานวิจัยฉบับย่อได้ที่
https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=356
ติดตามรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่