
สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ แนะนำประเภททุนการศึกษาสำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี ทั้งทุนการศึกษาสนับสนุนนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ นิสิตเรียนดีสร้างชื่อเสียง และทุนสนับสนุนนิสิตในยามฉุกเฉินหรือเมื่อครอบครัวเผชิญภาวะวิกฤต
เงินไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนที่จุฬาฯ! ทุกโอกาสในการเรียนรู้ที่จุฬาฯ จะเปิดกว้างสำหรับนิสิตทุกคน โดยเฉพาะนิสิตที่มีความตั้งใจและศักยภาพ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการศึกษาอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับบางคน แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนแก่ทุกคนอย่างเต็มที่ ผ่านทุนการศึกษาหลายประเภทที่ช่วยให้การเรียนในระดับปริญญาตรีเป็นไปได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาสำหรับนิสิตที่มีผลการเรียนดี ทุนสำหรับนิสิตที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย หรือทุนในกรณีฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือนิสิตในยามที่ครอบครัวประสบปัญหา จุฬาฯ พร้อมเสมอที่จะให้โอกาสนิสิตในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปจนถึงการสำเร็จการศึกษา
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้นิสิตทุกคนสามารถเรียนต่อได้อย่างไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ซึ่งทุนการศึกษาที่จุฬาฯ มีให้ จะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสในการศึกษาต่อโดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงินมากีดขวาง
จุฬาฯ มีทุนอะไรสำหรับนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์บ้าง?
สำหรับนิสิตที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน จุฬาฯ มีทุนอุดหนุนการศึกษาของจุฬาฯ 3 ทุน คือ
1.) ทุนอุดหนุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
ทุนประเภท ก เป็นทุนช่วยเหลือค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน
ทุนประเภท ข(1) เป็นทุนช่วยเหลือค่าเล่าเรียน
ทุนประเภท ข(2) เป็นทุนช่วยเหลือค่าใช้จ่ายรายเดือน วงเงินไม่เกิน 60,000 บาท / คน / ปีการศึกษา
ทุนประเภท ค เป็นทุนช่วยเหลือเสริมค่าใช้จ่ายการศึกษาบางส่วน วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท / คน / ปีการศึกษา
2.) ทุนจุฬาฯ สงเคราะห์ เป็นทุนจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วยเหลือค่าเล่าเรียนในภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลายของแต่ละปีการศึกษา รวมถึงค่าหอพักในมหาวิทยาลัย (หอจำปา) จำนวน 4,500 บาท ต่อภาคการศึกษา ในกรณีมีความจำเป็นจะต้องอยู่หอพัก
3.) ทุนจุฬาฯ ชนบท เป็นทุนสำหรับนิสิตที่สมัครเข้ามาในโครงการจุฬาฯ ชนบท ในระบบ TCAS รอบที่ 2 (โควต้า) แบ่งเป็น 2 ประเภท
ทุนประเภท ก จะได้รับค่าเล่าเรียน ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายส่วนตัวประจำเดือน ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าหอพัก และค่ารักษาพยาบาล
ทุนประเภท ข จะได้รับค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าหอพัก และค่ารักษาพยาบาล
นอกจากทุนจากจุฬาฯ แล้ว ยังมีทุนอุดหนุนการศึกษาสำหรับนิสิตที่มีความจำเป็น จากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย กว่า 60 หน่วยงาน ทั้งจากมูลนิธิ ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงทุนจากรุ่นพี่ศิษย์เก่า โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของผู้มอบทุน ในกรณีที่นิสิตไม่ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย ก็สามารถขอทุนจากหน่วยงานภายนอกได้เช่นกัน สามารถสอบถามได้ที่ฝ่ายกิจการนิสิตของคณะที่นิสิตสังกัด
ต้องการทุนการศึกษา ต้องทำอย่างไร?
สำหรับนิสิตที่ต้องการได้รับทุนการศึกษา สิ่งแรกที่ รศ.ดร.สุกัญญา แนะนำให้ทำคือเข้าพบ “อาจารย์ที่ปรึกษาของตนเอง” เพื่อขอคำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษา
“อาจารย์ที่ปรึกษาจะแนะนำได้ว่าเราต้องทำอย่างไรบ้าง และอาจารย์จะเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปพูดคุยกับคณะกรรมการพิจารณาทุนให้ได้ แต่หากเป็นนิสิตปี 1 ที่ยังไม่รู้จักอาจารย์ที่ปรึกษาของตนเอง ก็สามารถเข้ามาปรึกษากับฝ่ายกิจการนิสิตของคณะได้เลย พี่ ๆ ทุกคนพร้อมที่จะให้ข้อมูลและความช่วยเหลืออย่างเต็มที่”
สำหรับนิสิตใหม่ที่ประสงค์จะขอรับทุนอุดหนุนการศึกษา สามารถติดต่อขอรับทุนที่ฝ่ายกิจการนิสิตที่คณะของตนเองได้ทันทีหลังจากที่ได้รับเลขทะเบียนนิสิต (ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมของทุกปี) เมื่อนิสิตเข้าสู่กระบวนการเข้ารับทุนแล้ว ทางจุฬาฯ จะดำเนินเรื่องให้นิสิตไม่ต้องชำระค่าเล่าเรียนในระบบหลังลงทะเบียนเรียน
ในกรณีที่นิสิตดำเนินการช้า อาจมีความจำเป็นที่นิสิตจะต้องชำระค่าเล่าเรียนล่วงหน้าไปก่อน ทั้งนี้ จุฬาฯ อนุญาตให้นิสิตขอผ่อนผันการชำระค่าเล่าเรียนได้ หรือนิสิตสามารถทำธุรกรรมกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อผ่อนชำระค่าเล่าเรียนได้เช่นกัน
มีผู้ได้รับทุนกี่คน? ระยะเวลาให้ทุน? อะไรคือเกณฑ์การให้ทุน?
รศ.ดร.สุกัญญา กล่าวว่าทางคณะจะเป็นผู้พิจารณาการให้ทุนสำหรับนิสิต โดยพิจารณาจากรายได้ของผู้ปกครองเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว ส่วนระยะเวลาการให้ทุนจะเป็นการพิจารณาและมอบทุนเป็นรายปี ซึ่งหากนิสิตมีความต้องการ ก็สามารถขอทุนได้ต่อเนื่องทุกปีจนเรียนจบ
“สำหรับจำนวนนิสิตที่จะได้รับทุน จุฬาฯ ไม่กำหนดจำนวนตายตัวว่าแต่ละปี จะมีนิสิตได้รับทุนกี่คน เพราะจุฬาฯ จัดสรรงบประมาณให้นิสิตตามความจำเป็น ซึ่งหากนิสิตมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของทุนนั้น ๆ ก็สามารถสมัครเข้ามาได้ และจะได้รับการพิจารณา” (ยกเว้นทุนจุฬาฯ ชนบท ที่มีการกำหนดจำนวนนิสิตตั้งแต่การสมัครจากระบบ TCAS รอบโควต้า)
โครงการจุฬาฯ ชนบท คัดเลือกกันอย่างไร
ทุนจุฬาฯ ชนบทก็เป็นทุนที่พิจารณาตามความจำเป็นของนิสิต อาจจะเป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือเป็นบางส่วน โดยโครงการยังมีการกำหนดคุณสมบัตินิสิตตามภูมิลำเนาและมีการกำหนดคณะที่เปิดรับ ซึ่งนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจะมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดรวมทั้งคุณสมบัติที่เป็นไปตามสาขาของคณะที่เปิดรับ
อ่านเรื่องราวของโครงการจุฬาฯ ชนบทเพิ่มเติมได้ที่บทความ เปิดแล้ว! “จุฬาฯ-ชนบท” ทุนเรียนฟรีสำหรับนักเรียนยากจน เพิ่มโอกาสการศึกษา พัฒนาคน สร้างชนบทไทย
รับชมเรื่องราวอันน่าประทับใจจากชีวิตจริงของ คุณชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม กับโครงการจุฬาฯ ชนบท ได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=UdMZvxcIvQU
ทุนช่วยเหลือในยามวิกฤต
แม้นิสิตโดยส่วนมากจะมีครอบครัวให้การสนับสนุนปัจจัยค่าศึกษาเล่าเรียน แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เกิดเหตุไม่คาดคิดในชีวิต ครอบครัวไม่อาจดูแลนิสิตด้านค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอย่างที่เคย ในกรณีเช่นนี้ จุฬาฯ ก็มีทุนอุดหนุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนิสิตเช่นกัน
“จุฬาฯ จะมีการเปิดรอบพิจารณาทุนการศึกษาเป็นกรณีพิเศษ เมื่อนิสิตรู้ตัวว่าต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบติดต่อที่ฝ่ายกิจการนิสิตของคณะโดยเร็วเพื่อที่จะได้รีบดำเนินการต่อไป” รศ.ดร.สุกัญญา แนะ
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังมีทุนสงเคราะห์สวัสดิภาพนิสิต เพื่อช่วยเหลือนิสิตในภาวะวิกฤตต่าง ๆ เช่น สถานการณ์โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของนิสิต รศ.ดร.สุกัญญา ยกตัวอย่าง ทุนโควิด-19 ทุนสงเคราะห์สวัสดิภาพนิสิตสำหรับนิสิตที่ประสบอุทกภัย จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา เป็นต้น
และไม่เพียงปัญหาครอบครัว และภัยธรรมชาติ แต่การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จุฬาฯ ให้ความสำคัญเพื่อดูแลสวัสดิภาพของนิสิต ซึ่งในเรื่องนี้ จุฬาฯ ก็ได้ตั้งศูนย์บริการสุขภาพที่ให้บริการโดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับนิสิตที่ไม่สบายหรือเกิดอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ก็มีหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิตสำหรับนิสิตที่รู้สึกไม่สบายใจ เครียด และต้องการความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา
“จุฬาฯ ยังทำประกันอุบัติเหตุสำหรับนิสิตจุฬาฯ ทุกคน เมื่อไปรักษาที่สถานพยาบาลใดๆ ก็สามารถนำใบรับรองแพทย์และใบเสร็จมายื่นที่สำนักบริหารกิจการนิสิตเพื่อรับเงินค่ารักษาได้เช่นกัน”
มีทุนการศึกษาสำหรับนิสิตไทยในหลักสูตรนานาชาติและนิสิตต่างชาติหรือไม่?
สำหรับนิสิตไทยที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางมหาวิทยาลัยจะพิจารณาความช่วยเหลือตามข้อกำหนดในเรื่องของค่าเล่าเรียน ส่วนค่าธรรมเนียมการศึกษาจะขึ้นอยู่ในดุลพินิจของทางคณะ
สำหรับนิสิตต่างชาติในระดับปริญญาตรีที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ ปัจจุบันยังไม่มีทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวนที่สนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าหอพัก ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายส่วนตัว แต่ทางคณะยังมีทุนการศึกษาบางส่วนซึ่งจัดสรรโดยคณะ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ มีการจัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมสำหรับนิสิตต่างชาติโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/CUInterofficial/
หมายเหตุ: ทุนการศึกษาสำหรับนิสิตต่างชาติที่สนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าหอพัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัว จะมีเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาเท่านั้น สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://academic.chula.ac.th/detail/news/25
ทุนสร้างเสริมกำลังใจให้นิสิตผู้ทำชื่อเสียงและคุณประโยชน์
นอกจากทุนให้โอกาสด้านการศึกษาแล้ว จุฬาฯ ยังมีทุนสร้างกำลังใจให้นิสิตที่ทําชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยด้วยเรียกว่า รางวัลนิสิตทำชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย มอบให้นิสิตที่ได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติ ในการแข่งขันด้านวิชาการ ด้านกีฬา ด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งด้านกิจกรรมทางสังคมและบำเพ็ญประโยชน์
ทุนสนับสนุนรูปแบบอื่น ๆ
เพราะความต้องการของนิสิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน จุฬาฯ จึงมีทุนอื่น ๆ ที่ช่วยเหลือนิสิตในบางส่วน หรือเป็นทุนช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับนิสิตที่มีความเดือนร้อน แต่ทุนที่ได้รับยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจำเป็น อาทิ
ทุนอุดหนุนการศึกษาสำหรับนิสิตพิการ สำหรับนิสิตทุกคนที่ถือบัตรประจำตัวผู้พิการ หรือสมุดประจำตัวผู้พิการ
ทุนนิสิตช่วยงาน สำหรับนิสิตที่ต้องการทำงานพิเศษกับหน่วยงานในจุฬาฯ โดยได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 100 บาท นอกจากนี้ นิสิตจะได้เพิ่มพูนประสบการณ์และทักษะในการทำงานด้วย
ทุนอาหารกลางวัน นิสิตจะได้รับค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารกลางวัน สนับสนุนโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ
“การมอบทุนไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการให้เงินเพียงอย่างเดียว แต่เรามอบสิ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้นิสิต อย่างเช่น การอยู่หอพักในมหาวิทยาลัย นิสิตไม่ต้องเสียค่ารถเดินทาง สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่”รศ.ดร.สุกัญญา กล่าว
ต่อยอดทุนด้วยการให้และการรับ
โอกาสไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจบไป แต่เป็นวัฏจักรแห่งการให้และรับที่ไม่สิ้นสุด นิสิตที่ได้รับทุนประเภทต่าง ๆ ต้องเรียนรู้ในการเป็นผู้ให้โอกาสกับคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ดร.สุกัญญา กล่าวว่าจุฬาฯ พยายามปลูกฝังให้นิสิตมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนอื่น ๆ และสังคม เมื่อมีกิจกรรมหรืองานจิตอาสา ก็จะเชิญชวนนิสิตที่ได้รับทุนจากจุฬาฯ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วยเสมอ
“สิ่งสำคัญของมนุษย์คือการได้รับโอกาส เมื่อนิสิตได้รับโอกาส เราก็อยากให้นิสิตใช้โอกาสตรงนี้ให้เต็มที่และจดจำความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับโอกาสนี้ และเมื่อวันหนึ่งนิสิตเติบโตและมีความพร้อมมากขึ้น ก็อยากให้เขาส่งมอบและสร้างโอกาสให้คนอื่น ๆ ในสังคมต่อไป เหมือนกับคำกล่าวของท่านอธิการบดีที่อยากให้นิสิตจุฬาฯ มี “Philanthropic Mindset” คือมีหัวใจที่อยากจะทำความดีและประโยชน์เพื่อผู้อื่นและสังคม รศ.ดร.สุกัญญา กล่าวทิ้งท้าย
ดูรายละเอียดทุนการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.sa.chula.ac.th/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายทุนการศึกษาและบริการนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ โทร. 02-2187337
…..
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
ที่มา : https://www.chula.ac.th/