ในวันที่ 8 กันยายน ขณะที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day) รวมถึงพลังของการศึกษาในการสร้างสังคมที่สงบสุขและยั่งยืน กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (Education Cannot Wait หรือ ECW) ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและวิกฤตที่ยืดเยื้อขององค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำโลกยกระดับการสนับสนุนทางการเงิน
รายงานผลการดำเนินงานประจำปี ระบุว่า กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั่วโลกได้มอบการศึกษาแบบองค์รวมที่มีคุณภาพให้แก่เด็ก 8.8 ล้านคนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในปี 2559 โดยในปี 2565 เพียงปีเดียวสามารถช่วยเหลือเด็กได้ถึง 4.2 ล้านคน
“ความสำเร็จที่ระบุไว้ในรายงานผลการดำเนินงานฉบับใหม่ล่าสุดของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน ได้แสดงให้เห็นว่ากองทุนระดับโลกนี้ดำเนินงานด้วยความแข็งแกร่ง รวดเร็ว และคล่องตัว พร้อมด้วยคุณภาพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริจาคจำนวนมากต่างยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ช่องว่างด้านเงินทุนกลับกว้างขึ้น และมีโครงการด้านการศึกษาในภาวะฉุกเฉินเพียง 30% ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนในปี 2565 เราต้องก้าวข้ามความท้าทายนี้ด้วยการปลดล็อกเงินทุนเพื่อการศึกษาให้มากกว่าเดิม” คุณกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) ผู้แทนพิเศษด้านการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลระดับสูงของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน กล่าว
กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินขาดแคลนเงินทุนประมาณ 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปี 2566-2569 เพื่อช่วยเหลือเด็ก 20 ล้านคนในอีกสามปีข้างหน้า
“ด้วยความหวังและความกล้าหาญ เราสามารถรับมือกับความท้าทายของโลกที่ลุกเป็นไฟเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งที่รุนแรง และการถูกบังคับให้พลัดถิ่น เราสามารถทำได้ด้วยการรวบรวมความกล้าที่จะลงทุนในด้านการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” คุณแยสมิน เชริฟ (Yasmine Sherif) กรรมการบริหารกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน กล่าว
จนถึงปัจจุบัน กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาใน 44 ประเทศ และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปิดโรงเรียนทั่วโลก กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินก็ได้ตอบสนองด้วยการปรับรูปแบบโครงการใหม่และเข้าถึงเด็กเพิ่มขึ้นอีก 32.2 ล้านคน
การลงทุนของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินกำลังมีความก้าวหน้าอย่างมากในการเข้าถึงเด็กกลุ่มชายขอบทั่วโลก โดยในบรรดาเด็ก 4.2 ล้านคนที่ได้รับความช่วยเหลือในปี 2565 นั้น ราว 21% เป็นผู้ลี้ภัย และ 14% เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
ทั้งนี้ ในปี 2565 กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินได้ให้ความสำคัญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยให้เงินช่วยเหลือเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้งในแอฟริกาตะวันออก รวมถึงน้ำท่วมในปากีสถานและซูดาน นอกจากนี้ กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินยังอนุมัติเงินทุนก้อนใหม่เพื่อรับมือกับผลกระทบจากสงครามในยูเครน รวมถึงความรุนแรงในภูมิภาคทะเลสาบชาดและเอธิโอเปีย
#สำนักข่าวการศึกษาไทย