
30 ปี ‘SIIT ธรรมศาสตร์’ มอบ 100 ทุน พร้อมปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ‘การวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน’

“สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ธรรมศาสตร์” ประกาศมอบ 100 ทุนการศึกษา สำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ พร้อมปรับลดเกณฑ์ GPA ผู้เข้าสอบชิงทุน จาก 2.75 เหลือ 2.5 เพื่อทลายข้อจำกัดและสร้างโอกาสให้ประเทศ พร้อมปรับปรุงหลักสูตรใหม่ “Business and Supply Chain Analytics” ตอบโจทย์ความต้องการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
.
ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ของ SIIT ในฐานะผู้ที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ หรือ “วิศวะอินเตอร์” แห่งแรกของประเทศไทย ได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตซึ่งเป็น นวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาและการแก้โจทย์ภาคอุตสาหกรรมออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ศิษย์เก่า SIIT จึงเป็นทั้งผู้บริหารหน่วยงาน ผู้นำองค์กร ตลอดจนเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ ที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติ
.
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่าองค์ความรู้ เทรนด์ความสนใจ รวมถึงอาชีพในโลกอนาคตมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความรู้มีวันหมดอายุและหมดอายุเร็วมาก ความรู้ในอดีตไม่สามารถนำมาใช้จัดการปัญหาในปัจจุบันได้ นั่นทำให้สถาบันการศึกษาต้องตื่นตัวอย่างถึงที่สูงสุดที่จะอัพเดทความรู้ใหม่ล่าสุดมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษา ขณะที่คณาจารย์ก็ต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าไปคลุกวงในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง จึงจะสามารถนำมาออกแบบการเรียนการสอนได้ ส่วนนักศึกษาต้องมีประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฏิบัติและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ
.
ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา กล่าวว่า ที่ผ่านมา SIIT ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทันพลวัตของโลก องค์ความรู้ที่ SIIT ถ่ายทอดให้กับนักศึกษานั้นเป็นองค์ความรู้ที่ใหม่ที่สุด โดยล่าสุดในปีการศึกษา 2566 นี้ SIIT ได้ปรับปรุงหลักสูตร “การวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน” หรือ Business and Supply Chain Analytics (International Program) : BA เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งมีความสำคัญและกำลังเป็นที่ต้องการในทุกๆ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย
.
“เราพูดได้อย่างเต็มปากว่า เรามีความรู้ที่อัพเดทที่สุด มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด มีคณาจารย์ที่ยืนอยู่ในชั้นแถวหน้า เรายังมีคอนเนคชันกับภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยทั่วโลก และเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดนี้คือโอกาสที่นักศึกษา SIIT จะได้รับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในสถาบันฯ” ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา กล่าว
.
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยด้วยการสร้างกำลังคนที่เข้มแข็ง และเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้กับนักเรียนที่มีศักยภาพ แต่อาจมีข้อจำกัดด้านการเงินหรือทุนทรัพย์ SIIT จะมอบทุนการศึกษาจำนวน 100 ทุน ภายใต้ โครงการสอบชิงทุนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ (Outstanding Student Program :OSP) และยังมีทุนการศึกษาจากทั่วโลกอีกมากมายให้สอบแข่งขันในระหว่างที่เป็นนักศึกษา SIIT
.
รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ จันทร์วราสุทธิ์ ประธานหลักสูตรการวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน SIIT กล่าวว่า ปัจจุบันโจทย์ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป SIIT จึงต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ากับการผลิตบัณฑิตยุคใหม่ ดังนั้นหลักสูตรการวิเคราะห์ธุรกิจฯ จึงตั้งต้นมาจากความต้องการของตลาดแรงงาน
.
รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้พบว่าหลายองค์กรธุรกิจไม่มีบุคลากรทำหน้าที่วิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถนำข้อมูลออกไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดกิจการได้ ฉะนั้นนอกจากความรู้พื้นฐาน และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ อาทิ การเงิน บัญชี การตลาด ฯลฯ แล้ว ภายใต้หลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่ “การใช้เครื่องมือจริง” ในการวิเคราะห์ข้อมูล อาทิ ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise resource planning :ERP) ซึ่งเป็นระบบที่องค์กรขนาดใหญ่ใช้อยู่ หรือหลักสูตรการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตัวเอง (Machine learning) เป็นต้น
.
สำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะเข้าไปมีบทบาทได้ใน 4 กลุ่มภาคธุรกิจ ได้แก่ 1. กลุ่มงานประเภทซัพพลายเชน โลจิสติกส์ 2. กลุ่มงานเทคโนโลยี และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ปรับปรุงข้อมูล และหาทางออกให้กับปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ 3. กลุ่มงานดำเนินธุรกิจโดยตรง เช่น นักการเงิน นักการตลาด ที่ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขในการวิเคราะห์ และ 4.กลุ่มงานสตาร์ทอัพ ที่หลายคนประสบความสำเร็จจากการใช้ความรู้ด้านข้อมูลเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ
.
“มากไปกว่านั้น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของ SIIT ยังมีทางเลือกอื่นในการสำเร็จการศึกษา ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องทำวิจัยเท่านั้น โดยจะมี 4 ทางเลือก คือ 1. การทำ Senior Project 2. การเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับสถาบันวิชาการต่างประเทศ 3. การฝึกงานระยะยาวกับบริษัทในภาคอุตสาหกรรม 4. การสร้างธุรกิจ Start up ให้สำเร็จ แล้วเทียบโอนเป็นหน่วยกิตการเรียน” รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ กล่าว
.
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ภานุวัฒน์วนิชย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรับเข้าศึกษาและประชาสัมพันธ์ SIIT กล่าวว่า SIIT ตั้งเป้าที่จะยกระดับสู่การเป็น Education Hub ของภูมิภาค ซึ่งนอกจากเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยแล้ว ยังจะช่วยเชื่อมต่อประเทศไทยเข้ากับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนานาชาติ โดยที่ผ่านมา SIIT ให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือการเปิดสอบชิงทุนการศึกษา OSP ซึ่งถือเป็นการตอบแทนสังคมด้วยการ “สร้างโอกาส” ให้นักเรียนที่มีศักยภาพ ให้สามารถเข้ามาศึกษาในสถาบันที่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล โดยในปีการศึกษา 2566 SIIT จะมอบทั้งสิ้น 100 ทุน
.
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากจำนวนทุนการศึกษาที่มากถึง 100 ทุนแล้ว SIIT ยังได้ทลายข้อจำกัดอื่นๆ ของนักเรียนด้วย โดยในปีนี้ได้ “ปรับลด” เกณฑ์เกรดการเรียนเฉลี่ยสะสม หรือ GPA ลง จากเดิมที่กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ต้องมีเกรดไม่ต่ำกว่า 2.75 จึงจะมีสิทธิเข้าสอบชิงทุน OSP ซึ่งล่าสุดได้ปรับลดลงมาเหลือเพียง 2.50 เท่านั้น
.
“เรามองว่า GPA ไม่ได้ชี้วัดความรู้ความสามารถของนักเรียนได้ทั้งหมด และอาจไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เราจึงปรับลดเกณฑ์ลงมาเหลือเพียง 2.50 เท่านั้น แล้วค่อยมาวัดผลกันที่ข้อสอบของ SIIT เอง หากสอบผ่านหรือพิสูจน์ตัวเองในกติกากลางนี้ได้ ก็จะได้รับทุนการศึกษา” รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว
.
สำหรับ โครงการ OSP ปีการศึกษา 2566 มีทั้งสิ้น 100 ทุนการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ทุนเต็มจำนวน 2.ทุนครึ่งจำนวน และ 3.ทุนบางส่วน โดยเปิดรับสมัครสอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2565 – วันที่ 30 กันยายน 2565 สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www..siit.tu.ac.th
.
#OSP2023 #SIIT #SIITTU #TU #Thammasat #TCAS #TCAS66 #Dek66 #Scholarship