ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเอเชีย 2567 โดยคิวเอส (QS World University Rankings: Asia 2024) คือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยพิจารณาจากการเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการและในหมู่ผู้จ้างงาน ความสามารถในการวิจัย ทรัพยากรในการเรียนการสอน และความเป็นสากล โดยปีนี้เป็นการจัดอันดับครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีมหาวิทยาลัย 857 แห่งจาก 25 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ 149 แห่งที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อการจัดอันดับมาก่อน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยปักกิ่งรักษาตำแหน่งมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียเป็นปีที่สองติดต่อกัน ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยฮ่องกงเป็นอันดับที่สอง และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เป็นอันดับที่สาม อินเดียเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับมากที่สุดถึง 148 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีที่แล้วถึง 30 แห่ง ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับ 133 แห่ง และญี่ปุ่น 96 แห่ง นอกจากนี้แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยจากเมียนมา, กัมพูชา และเนปาล รวมอยู่ในการจัดอันดับเป็นครั้งแรกอีกด้วย
มหาวิทยาลัย 20 อันดับแรกของเอเชีย | |||
2567 | 2566 | ประเทศ | |
1 | 1 |
มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) |
จีน |
2 | 4 |
มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) |
ฮ่องกง |
3 | 2 |
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) |
สิงคโปร์ |
=4 | 5 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) | สิงคโปร์ |
=4 | 3 | มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) | จีน |
6 | 6= |
มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) |
จีน |
7 | 6= |
มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University) |
จีน |
8 | 12= | มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) | เกาหลีใต้ |
9 | 15 | มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) | เกาหลีใต้ |
10 | 12= |
มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) |
ฮ่องกง |
=11 | 10 |
มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) |
จีน |
=11 | 9 | มหาวิทยาลัยมาลายา (Universiti Malaya) | มาเลเซีย |
13 | 8 | สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) | เกาหลีใต้ |
14 | 11 | มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) | ญี่ปุ่น |
15 | 14 |
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (HKUST) |
ฮ่องกง |
16 | 17 | มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) | เกาหลีใต้ |
=17 | 23 | มหาวิทยาลัยซิตี้ฮ่องกง (City University of Hong Kong) | ฮ่องกง |
=17 | 16 |
มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) |
ญี่ปุ่น |
19 | 18 | มหาวิทยาลัยซองคยุนกวาน (Sungkyunkwan University) | เกาหลีใต้ |
20 | 22 | มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) | ญี่ปุ่น |
จีนเป็นผู้นำเอเชียในฐานะศูนย์กลางการวิจัย โดยมีมหาวิทยาลัย 24 แห่งติด 50 อันดับแรกในด้านจำนวนครั้งที่งานวิจัยแต่ละฉบับได้รับการอ้างอิง (Citations per Paper) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีอิทธิพลในระดับสูง อินเดียมีความโดดเด่นในด้านปริมาณงานวิจัย โดยมีมหาวิทยาลัย 7 แห่งติด 10 อันดับแรกในด้านจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ต่อจำนวนอาจารย์ (Papers per Faculty) และอินเดียยังขึ้นชื่อว่ามีสัดส่วนบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ญี่ปุ่นยังคงมีชื่อเสียงที่ดีในระดับสากลทั้งในหมู่ผู้จ้างงานและแวดวงวิชาการ ในขณะที่คาซัคสถานเป็นผู้นำในเอเชียกลาง โดยมีมหาวิทยาลัย 1 แห่งที่ติด 100 อันดับแรก
สิงคโปร์รักษาตำแหน่งแนวหน้าในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอเชีย โดยมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งติด 5 อันดับแรกและมีอิทธิพลอย่างมากในด้านงานวิจัย ขณะที่เกาหลีใต้ก็มีความเป็นเลิศในด้านวิชาการ โดยมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งก้าวขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรก
มหาวิทยาลัยในมาเลเซียได้รับการยอมรับว่าโดดเด่นด้านความเป็นสากล ส่วนอิหร่านเป็นผู้นำของเอเชียในด้านผลิตภาพของงานวิจัยและจำนวนบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก อินโดนีเซียและไทยมีความโดดเด่นในด้านการมีคณาจารย์จากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง และเวียดนามทำผลงานได้ดีที่สุดในแง่ชื่อเสียงในหมู่ผู้จ้างงาน
คุณเบน โซวเตอร์ (Ben Sowter) รองประธานอาวุโสของคิวเอส กล่าวว่า “ผลการจัดอันดับในปีนี้ตอกย้ำว่า ความพยายามในการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการและคุณภาพงานวิจัยถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความก้าวหน้าของภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอเชีย”
#สำนักข่าวการศึกษาไทย