นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด (H.E. Mr. Felipe de la Morena Casado) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน โดยเน้นอาหารฟังก์ชั่น อาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและนวัตกรรมการสร้างมูลค่าของเสียจากเกษตรอาหาร ภายในงาน “Spain – Thailand Innovation & Tech Dialogue Platform Healthy and Sustainable Food Products & Processes : Functional Foods & Valorization of Agrifood Waste” โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ CENTRE FOR THE DEVELOPMENT OF INDUSTRIAL TECHNOLOGY (CDTI) หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา (Ministry of Sciences Innovation and Universities) ประเทศสเปน
ภายในงานมีผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพและนักวิจัยกว่า 100 คน เข้าร่วมงานนับเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างไทยและสเปนในการยกระดับความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่าง นักวิจัย และผู้ประกอบการไทย – สเปน ภายใต้โครงการความร่วมมือทวิภาคี ด้านนวัตกรรมไทย – สเปน (TLSIP – Thailand & Spain Innovating Program ) ระหว่าง บพข. และ CDTI โดยเริ่มต้นความร่วมมือด้านอาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และนวัตกรรมการสร้างมูลค่าของเสียจากเกษตรอาหาร เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนสำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ นำร่องโครงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวด้วยนวัตกรรมจาก 2 แหล่งปลูก เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวโภชนาการสูง ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคและแมลงได้ดีในทุกสภาพอากาศ โดย ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวสรรพสี (Rainbow Rice) คนแรกของไทย หัวหน้าโครงการวิจัย “Innovarice Thai” ภายใต้ทุนสนับสนุน บพข. และโครงการทวิภาคีด้านนวัตกรรมไทย – สเปน ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวในโครงการวิจัยเป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Indica กับ Japonica ให้ได้ข้าวโภชนาการสูง จากข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นเขตร้อน Temperate Japonica ที่ได้รับการพัฒนาจาก ศูนย์พันธุ์ข้าว (Copsemar) ประเทศสเปน ที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรค มีอมิโลสสูง กับข้าวคู่ผสม Indica สีม่วงพันธุ์แรก เพื่อสร้างพันธุ์ข้าวสีม่วงที่ให้ผลผลิตสูง มีค่า ดัชนีน้ำตาล (GI) ต่ำ และคุณค่าทางโภชนาการสูง จะมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 และโรค NCDs ที่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพการปลูกได้ทั้งในสหภาพยุโรปและประเทศไทย
นางสาวสุชาดา กล่าวว่า โครงการความร่วมมือทวิภาคี ด้านนวัตกรรมไทย – สเปน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเชิงหน้าที่ รวมถึงกระบวนการผลิตที่สร้างมูลค่าให้แก่ของเสียจากเกษตรอาหารอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างนักวิจัย และภาคเอกชน ให้เกิดความร่วมมือแบบไร้พรมแดนและมีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของสังคมของสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น
นายเฟลิเป เด ลา โมเรนา กาซาโด กล่าวว่า ความร่วมมือในด้านวิจัยและนวัตกรรมสเปน – ไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะแผ่คลุมในทุกมิติของการวิจัยเป็นครั้งแรก ระหว่างรัฐบาลของ 2 ประเทศ ผ่านกระทรวง อว. โดย บพข. และ CDTI กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา สเปน “เรามั่นใจว่า ความร่วมมือนี้จะเป็นแรงผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรม ให้หาทางออกของระบบการผลิตอาหารสุขภาพได้อย่างยั่งยืน” นายเฟลิเป กล่าว
ภายในงาน ได้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมและแผนปฏิบัติการด้านความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระยะ 3 ปี (2024 – 2026) ระหว่าง บพข. และ CDTI โดย นายฮาเวียร์ ปองเซ่ ผู้อำนวยการสำนักงาน CDTI (Mr. Javier Ponce, Director General CDTI) กล่าวว่า กรอบความร่วมมือในแผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าว สืบเนื่องจากหนังสือแสดงเจตจำนงที่ทั้งสองหน่วยงานได้ลงนามร่วมกันในปี 2022 ในการทำข้อกำหนดการสนับสนุนเงินทุนในโครงการนวัตกรรมร่วมกันระหว่างไทย และ สเปน ในงานวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน อาหารเชิงสุขภาพเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ให้แก่สองประเทศ
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเน้นการจับคู่และขยายผลทางธุรกิจของผู้ประกอบการ นักวิจัยไทย-สเปน โดยใน 2 ปีข้างหน้าจะขยายความร่วมมือไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และ สุขภาพการแพทย์
“ งานนี้ เป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของ บพข. ในการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ของแผนงาน Global Partnership โดยเชื่อมโยงมหาวิทยาลัย และเอกชนไทย กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในหลายประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้” ดร.ธงชัย กล่าว
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผู้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ มุ่งผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
โทรศัพท์ 02-109-5432 ต่อ 872 มือถือ 08-1922-5149 (มนต์ศิริ) 09-2336-4482 (ณิศชเนตร์) Email: pmuc@nxpo.or.th / Website: https://pmuc.or.th Facebook: https://www.facebook.com/pmuc.researchfunding/
#สำนักข่าวการศึกษาไทย