ประวัติศาสตร์เรียนสนุกด้วย Historicovator นวัตกรรมสื่อ Metaverse เพื่อการเรียนรู้อดีตด้วยตัวเอง ผลงานอาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้าหลายรางวัลจากงานประกวดนวัตกรรม iCAN 2023 ณ ประเทศแคนาดา
ไม่ต้องท่องตำรา การเรียนประวัติศาสตร์ยุคใหม่ใช้การท่องไปโลกอดีตด้วยเทคโนโลยีสื่อสมัยใหม่ ที่จะพาผู้เรียนไปมีประสบการณ์อย่างเสมือนจริง ดังเช่นนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “Historicovator” ที่รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนีกร หงส์พนัส ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและทันสมัย
“Historicovator ใช้เทคโนโลยีจำลองความเสมือนจริง (metaverse) ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผู้เรียนจะได้สำรวจโลกของอดีตได้อย่างไร้ขีดจำกัด สัมผัสประสบการณ์ในอดีตอย่างเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันได้ การเรียนประวัติศาสตร์จะกลายเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานและมีความหมายกับผู้เรียน” รศ.ดร.รัชนีกร กล่าว
Historicovator (Metaverse Historicovator for History Learning Media to Promote Self-Directed Learning in The Bani Era) เป็นนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ที่คว้าหลายรางวัลในงานประกวดนวัตกรรม iCAN 2023 ณ ประเทศแคนาดา อาทิ Special Award จาก CANADIAN SPECIAL AWARD Innovation Initiative Co-operative Inc. “The Inventors Circle” และ Best Woman Inventor Awards
Historicovator ประวัติศาสตร์เรื่องใกล้ตัว
การเรียนรู้ยุคใหม่ “ย่อโลกและฟื้นอดีต” ให้มาอยู่ในมือเรา เพียงมีสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้ไม่ยาก
สำหรับ “Historicovator” ผู้สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยการเข้าไปที่เว็บไซต์ Spatial : https://historicovator.com/ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถจำลองอวตารตัวเอง แล้วเดินเยี่ยมชมข้อมูลการเรียนรู้ต่าง ๆ เสมือนเดินในพิพิธภัณฑ์หรือโลกในอดีต ให้อารมณ์เหมือนการเล่นเกม ภายในโลกเสมือน มีเนื้อหาสาระควบคู่ไปกับความบันเทิงในรูปแบบภาพและวิดีโอให้ผู้เรียนได้อ่าน ฟังและดูเพลิน ๆ
“Historicovator ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อยากขวนขวายที่ค้นหาความรู้ใหม่ๆ ลบภาพการเรียนประวัติศาสตร์แบบเก่า ๆ ได้เลย”
รศ.ดร.รัชนีกร เล่าว่าแพลตฟอร์มนี้จะพาผู้เรียนไปทำความรู้จักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นของ 5 ชุมชนใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะและบางชุมชนยังคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้อยู่ ได้แก่
1. ภาคเหนือ “ชุมชนท่ากาน” อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
2. ภาคกลาง “ชุมชนเยาวราช” เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
3. ภาคตะวันออก “ชุมชนวัดท่าแคลง” อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
4. ภาคตะวันตก “ชุมชนถ้ำรงค์” อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
5. ภาคใต้ “ชุมชนหงส์ หามเต่า” อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
“การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราเข้าใจต้นกำเนิดและพัฒนาการของสังคม เพื่อใช้ประสบการณ์นั้นในการปรับปรุงอนาคต” รศ.ดร.รัชนีกร กล่าวถึงความสำคัญในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์
ไม่ต้องตีตั๋ว ก็เดินทางย้อนอดีตได้
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เข้าถึงนั้นจำเป็นต้องมีการเดินทางไปพื้นที่จริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นพื้นที่และฟังเรื่องราวจากคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้เรียน ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายและการเดินทาง Historicovator จึงตอบโจทย์ข้อจำกัดนี้ รศ.ดร.รัชนีกร กล่าว “นวัตกรรมได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนสัมผัสภาพในอดีต ประหนึ่งว่าได้เข้าไปอยู่ในโลกนั้น เห็นพื้นที่ เห็นความเชื่อมโยงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นที่ยังคงอยู่ในสถานที่จริง รวมถึงได้รับฟังคำบอกเล่าเรื่องราวจากปราชญ์ชาวบ้านด้วย”
Metaverse ทิศทางการเรียนรู้ในยุคใหม่ (BANI)
นอกจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้ว สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล Metaverse ยังใช้จัดการเรียนรู้ในหลายสาขาวิชา อาทิ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ Metaverse SkyView แอปพลิเคชันนี้ช่วยให้ผู้เรียนสำรวจจักรวาล โดยใช้ AR ของท้องฟ้ายามค่ำคืน และยังสามารถใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อระบุตำแหน่งดาว กลุ่มดาว ดาวเคราะห์ และดาวเทียมได้
สาขาวิชาศิลปะ VR Museum of Fine Art แอปพลิเคชันนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แบบ VR ที่ให้ผู้เรียนชมภาพวาดและประติมากรรมระดับโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงภาพ Mona Lisa โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศส
สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ Metaverse Mondly ช่วยให้ผู้เรียนฝึกภาษาด้วยการสนทนาโต้ตอบกับเจ้าของภาษาได้จริง ๆ โดยไม่ต้องเสียเงินเดินทางไปต่างประเทศ รศ.ดร.รัชนีกร กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญและแนวโน้มของการประยุกต์ใช้ Metaverse ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หรือในโลกยุคบานี (BANI) ว่า “ผู้สอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียนได้ โดยผู้สอนมีหน้าที่เป็นโค้ช (coach) หรือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator) เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)”
#สำนักข่าวการศึกษาไทย