เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผู้บริหารของ วช. ตลอดจน นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำความช่วยเหลือขั้นต้น ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย นวัตกรรมโดรนสำรวจพื้นที่ประสบภัย และของบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเยียวยานักศึกษาและประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ณ ศูนย์ประสานงานภัยพิบัติมหาวิทยาลัยพะเยา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยที่มหาวิทยาลัยพะเยาและจังหวัดพะเยา โดยให้เร่งนำความช่วยเหลือถึงนักศึกษาและผู้ประสบภัย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. มีอีกภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ในการนี้ วช.ได้ดำเนินการตามนโยบายของ อว. ในการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยนำผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย นวัตกรรรมโดรนสำรวจพื้นที่ประสบภัย ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา และของบรรเทาสาธารณภัยช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ผู้บริหารและคณาจารย์ พร้อมด้วยนักศึกษาที่ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมรับความช่วยเหลือในระยะแรก
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทาง อว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เปิดโอกาสให้ทีมงานหนูน้อยจ้าวเวหาไทยพีบีเอส และทางสมาคมฯ นำนวัตกรรมโดรนสำรวจพื้นที่ประสบภัย ฝีมือเด็กไทย มาบินสำรวจพื้นที่ในมหาวิทยาลัยพะเยา และพื้นที่ใกล้เคียง พบว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมมหาวิทยาลัยพะเยา รวมไปถึงหอพักนักศึกษา หลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง และยังคงต้องฟื้นฟูซ่อมแซม ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนรถยนต์ – รถจักรยานยนต์ ซึ่งยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทางสมาคมฯ ก็ขอร่วมส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยของจังหวัดพะเยาทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
#สำนักข่าวการศึกษาไทย