ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หุ่นยนต์หรือ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์มากขึ้น ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวะศึกษา ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและแรงงานในอนาคต สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้สถาบันอาชีวะต้องมีการปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีและส่งเสริมทักษะความชำนาญให้เกิดขึ้น เหมือนกับที่วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง จ.ระยอง ซึ่งทางรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD และมูลนิธิอานันทมหิดล ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และพบว่ามีการปรับตัวในเรื่องการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม จนสามารถสร้างแรงงานเพื่อรองรับความต้องการในเขต EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวีระชัย สมบัติกำไร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง จ.ระยอง ได้กล่าวว่า “เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการตั้งอยู่บนพื้นที่ EEC นโยบายหลักของทางวิทยาลัยฯ คือผู้เรียนจะต้องมีทักษะ Multi Skill หรือความรู้ที่หลากหลาย อาทิ เรียนช่างยนต์ ก็ต้องมีความรู้ในการซ่อมมอเตอร์ไซด์เบื้องต้น, ติดตั้งแอร์เพื่อเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเรียนไปแล้วต้องมีงานทำ นอกจากนี้ทางวิทยาลัยฯ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงรถยนต์ และร้านกาแฟควินิน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นที่มาของโครงการศูนย์บ่มเพาะตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา ซึ่งได้ออกแบบมาให้ทุกสาขาวิชาจะต้องมีตัวอย่างหนึ่งในธุรกิจ ที่ทำแล้วประสบความ สำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียนได้เห็น เขาจะได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งจะมีการสอนทั้งในเรื่องการออกแบบแผนธุรกิจ, การเช็คสต๊อก, การบริหาร, การจดทะเบียนการค้า, การลงทุน, วิธีการแก้ไขเมื่อขาดทุน, การขอเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ ฯลฯ และยังได้ร่วมมือกับสถานประกอบการต่างๆ กว่า 300 แห่งที่ตั้งอยู่โดยรอบวิทยาลัย โดยล่าสุดคือบริษัท GPSC ซึ่งได้มาร่วมมือในเรื่องระบบชาร์ตรถไฟฟ้า (EV) ที่กำลังได้รับความนิยม ด้วยการให้งบสนับสนุน, ร่วมพัฒนาหลักสูตร, ออกแบบสถานี ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์สถานประกอบการที่กำลังจะผลิตรถไฟฟ้าทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ในอนาคต
ด้านหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ล่าสุดจะมีการเปิด 2 สาขาใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม และตอบโจทย์พื้นที่ EEC คือ 1)สาขาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ประกอบไปด้วยแผนกช่างยนต์, เทคนิคคอมพิวเตอร์, เมคคาทรอนิกส์, เครื่องกล ฯลฯ เป็นช่างเทคนิคสู่วิศวกรรม ซึ่งได้มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสามารถถ่ายโอนรายวิชาไปหากันได้ จบแล้วได้ประกาศนียบัตร 2 ใบ 2)สาขายานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งในเรื่องวิธีการสร้าง, ซ่อมบำรุง, ดูแลรักษา และการช่วยเหลือประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้าในบริเวณโดยรอบ”
ทางด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 เปิดเผยว่า “การที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง อาชีวะศึกษาคือเสาหลักในเรื่องดังกล่าว เราพูดกันมานานกว่า 50 ปีแล้วว่าการเรียนสายสามัญจะต้องมี 60% และสายอาชีวะต้องมี 40% ของนักเรียนที่เรียนจบ แต่เราไม่เคยไปถึงเป้าหมายได้เลย ทั้งที่มีการพยายามผลักดันปฏิรูปการศึกษา โดยในปีล่าสุดเรามีนักเรียนอาชีวะเพียงแค่ 30% หรือประมาณ 90,000 คน จากเป้าหมายที่วางไว้ 280,000 คน ซึ่งเป็นเป้าหมายยังห่างไกลจากความเป็นจริงมาก ประเทศไทยยังคงต้องการนักเรียนอาชีวะเก่งๆ ที่มีฝันและมีประกายในตัวเอง เพื่อสานฝันต่อให้กับประเทศอีกจำนวนมาก ปัจจุบันเราพูดถึงแต่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC แต่ไม่เคยมีใครพูดควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน จึงอยากจะขอฝากกำลังใจไปให้กับนักวิชาการ และนักการศึกษาทั่วประเทศ ว่าสิ่งที่คุณทำและมีประโยชน์นั้น ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้มองเห็น และเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ”
โดยผู้สนใจสามารถชมคลิปการสัมภาษณ์เพิ่มเติม ได้ในรายการ 1 ในพระราชดำริ ความฝันอันสูงสุด อาชีวศึกษา สร้างอาชีพ เพื่ออนาคต ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD ได้ร่วมกับมูลนิธิอานันทมหิดล ได้จัดทำขึ้น โดยคลิกไปที่ https://www.youtube.com/watch?v=uRi1DcVXtkY&t=817s ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
#สำนักข่าวการศึกษาไทย