ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพของสิ่งแวดล้อม หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดย รศ.ดร.สุปราณี วุ่นศรี หัวหน้าโครงการ และผู้ร่วมโครงการ คือ ผศ.นพดล โพชกำเนิด ผศ.ดร.โกสินทร์ ทีปรักษพันธ์ ผศ.ดร.ภารุณีย์ สามพิมพ์ และ ผศ.พลชัย ขาวนวล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย มองเห็นโอกาสของการสร้างนวัตกรรมเตาชีวมวล นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างเตาทั่วไปและเตาชีวมวลนั้น ทั้งสองประเภทมีคุณสมบัติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เตาทั่วไป มักใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น แก๊สธรรมชาติหรือไฟฟ้า ซึ่งให้ความสะดวกในการใช้งานและมีประสิทธิภาพสูง แต่ในขณะเดียวกันการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่เตาชีวมวล ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด ฟางข้าว ขี้เลื่อย และกิ่งไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืนมากกว่า แม้ว่าเตาชีวมวลอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าในบางกรณี แต่สามารถนำวัสดุที่เหลือใช้มาเป็นพลังงานหมุนเวียนได้ ลดปัญหาขยะเหลือทิ้งที่มีผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม
เตาชีวมวลประหยัดพลังงาน ได้รับทุนวิจัย บพท. ในปี 2562 ซึ่งแก้ปัญหาการแปรรูปหอยตลับ ในพื้นที่ ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง สามารถลดเวลาในการแปรรูป ลดปริมาณเชื้อเพลิง ลดปริมาณจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนทำให้หอยตลับมีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน วัสดุที่ใช้สร้างเตาชีวมวลนี้ ประกอบด้วย อิฐมอญ ปูน ท่อใยหิน และ ตะแกรงเหล็กฉีก โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ อยู่ในพื้นที่ ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กลุ่มแปรรูปหอยตลับ และมีการขยายผลไป ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
ต่อมาสร้างสรรค์เทคโนโลยีเตาชีวมวลในรูปแบบของ เตาชีวมวลแบบก่อด้วยอิฐมอญ ได้รับทุนจากงานวิจัยงบรายได้ ปี 2563 เพื่อนำไปแก้ปัญหาในกระบวนการแปรรูปขนมซั้ง ของกลุ่มแปรรูปขนมซั้ง ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 มีความปลอดภัยต่อต่อผู้ใช้งาน และมีการขยายผลเทคโนโลยีเพิ่มเติมในกลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบ ในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และกลุ่มขายอาหาร ในตลาดน้ำคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล ในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา วัสดุที่ใช้ในการสร้างคือ อิฐมอญ ปูนซีเมนต์ ท่อใยหิน และตะแกรงเหล็กฉีก
นอกจากนี้ยังได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีเตาชีวมวลโดยใช้ถังขนาด 200 ลิตรเสริมท่อเติมอากาศ ได้รับทุนจากงบวิจัย บพท. ปี 2566 ขอดีของเตาชีวมวลโดยใช้ถังขนาด 200 ลิตรเสริมท่อเติมอากาศ เป็นเตาชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นถ่าน สามารถเคลื่อนย้ายได้ ใช้งานสะดวก ให้ความร้อนสม่ำเสมอ ทำให้การแปรรูปจาวตาลเชื่อมมีสีเหลืองทองเหมาะสำหรับการจำหน่าย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาชีวมวลถัง 200 ลิตรเสริมท่อเติมอากาศให้กับกลุ่มแปรรูปจาวตาลเชื่อม ตำบลทำนบ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา วัสดุที่นำมาประกอบเตาชีวมวลชนิด ประกอบด้วย ถังขนาด 200 ลิตร เหล็กแผ่น ตะแกรงเหล็กฉีก
อนาคตของพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มสดใสขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.สุปราณี วุ่นศรี อีเมล์ supranee.w@rmutsv.ac.th โทรศัพท์ 081-5390193
#สำนักข่าวการศึกษาไทย