รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า THE Awards Asia 2024 ได้ประกาศรางวัลในรอบ Final ผ่านทางเว็บไซต์ https://theawardsasia.com/2024 ให้กับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีการดำเนินการในโครงการที่โดดเด่นและเป็นผู้นำในแต่ละสาขาของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีการแข่งขันทั้งหมด 10 หมวดหลักด้วยกัน และทาง มทร.ธัญบุรี ได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ผลปรากฏว่า มทร.ธัญบุรี ติดอันดับ 1 ใน 8 ของหมวด ‘กลยุทธ์การสอนและการเรียนรู้แห่งปี’ – Teaching and Learning Strategy of the Year จาก THE Awards Asia 2024 โดยทาง มทร.ธัญบุรี ได้ส่งผลงานในโครงการเกี่ยวกับการพัฒนา ปรับปรุง และส่งเสริมทักษะดิจิทัลของนักศึกษา ที่มุ่งเน้นในด้านการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยได้วางนโยบาย ผลักดันและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งในพันธกิจด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้มีความสามารถทางวิชาการ วิชาชีพ มีคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้แผนพัฒนาสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของนักศึกษาระดับปริญญาตรี นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้ง ที่ มทร.ธัญบุรี ติดอันดับคุณภาพการศึกษา 1 ใน 8 ของทวีปเอเชีย และจะมุ่งมั่นจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมและเท่าเทียม สนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักศึกษา
ด้าน รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า การปรับปรุง และส่งเสริมทักษะดิจิทัลของนักศึกษาในด้านการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IC3 DIGITAL LITERACY CERTIFICATE ซึ่งเป็นการประเมินทักษะโดยใช้มาตรฐานระดับสากลที่รับรองความรู้ ความสามารถในการใช้งานทักษะด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โปรแกรมสำนักงานสำเร็จรูป อินเทอร์เน็ต และโครงข่ายระดับพื้นฐาน โดยนำมาใช้ในการประเมิน และให้การรับรองสมรรถนะการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ของนักศึกษาให้ได้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่ง มทร.ธัญบุรี มีหลักสูตรคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานเป็นภาคบังคับสำหรับนักศึกษาทุกคน และโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 โดย สำนักงานวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของ มทร.ธัญบุรี ได้สร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงความสามารถของนักศึกษาด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ ทำให้อัตราการสอบผ่านของนักศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 53.74% เป็น 86.78% ทำให้ได้รับการรับรองที่เร็วขึ้น มีเวลามากขึ้นในการเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ หรือทำงานระหว่างเรียนเพื่อหารายได้เสริม ขณะเดียวกันยังสร้างการยอมรับจากนายจ้างและเป็นแนวทางให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1,000-2,000 บาท และมหาวิทยาลัยสามารถลดต้นทุนเกี่ยวกับการจ้างผู้สอนและค่าไฟฟ้ามากถึง 86% นอกจากนี้ ผลจากการพัฒนาทักษะดิจิทัลดังกล่าว ยังเป็นแนวทางสำคัญที่สนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาก้าวสู่เวทีระดับโลกในการแข่งขันความรู้ด้านดิจิทัล สามารถเป็นแชมป์โลกได้สำเร็จ ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระบบเทียบโอนความรู้และประสบการณ์หรือธนาคารหน่วยกิตร่วมด้วย.