คณะเทคโนโลยีอาหาร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สร้างนวัตกรรมอาหารแปรรูปเพื่อธุรกิจอาหารอนาคต ในรูปแบบ Non degree Program โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ผศ.ดร.วราพร ลักษณลม้าย คณบดีคณะเทคโนโลยีอาหาร กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีอาหาร จัดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจาก อว. ปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยการจัดทำหลักสูตร นวัตกรรมอาหารแปรรูปเพื่อธุรกิจอาหารอนาคต ในรูปแบบ Non degree Program ใช้เวลาการเรียน 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2566 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม พร้อมเรียนรู้การทำแผนธุรกิจ โดยคาดหวังว่าเมื่อจบการศึกษาผู้เรียนจะนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แนวคิด และทักษะการปฏิบัติในระหว่างเรียนไปต่อยอดความรู้ในการประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งในครั้งนี้ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มีทั้งบุคคลภายนอก ผู้ประกอบการ อาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต จำนวน 61 คน สำเร็จการศึกษา 58 คน สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จำนวน 38 ผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.ขนมขบเคี้ยว จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ 2.เครื่องดื่ม จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ 3.เบเกอรี จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ 4.นม Plant Based จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ 5.ชาเยลลีและผงโรยข้าว จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ 6.เนื้อสัตว์ จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ และ 7.สแนกบาร์และไส้กรอกอิสาน Plant Based จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์
“ในปีนี้ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกที่ประกอบอาชีพอิสระอยากมีอาชีพเสริม อาจารย์ นักศึกษา และผู้เกษียณจากงานอีกจำนวนหนึ่ง จากผลการดำเนินงานตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ผู้เรียนทุกท่านตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเขียนแผนธุรกิจจนสำเร็จ ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่อาจจะยังไม่สมบูรณ์พร้อมจำหน่าย 100% เนื่องจากเป็นเวลาที่สั้นๆ แต่เราเชื่อว่าผู้เรียนได้สนุกกับการเรียนรู้ที่คณะเทคโนโลยีอาหาร ได้รับความรู้และมีความเข้าใจในเรื่องการแปรรูปอาหาร สามารถพัฒนาทักษะในเรื่องการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งจะนำไปพัฒนาต่อเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพหรือการทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต่อไปได้เป็นอย่างดี
นางสาวพิมพ์ชนก ส่งศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลิตภัณฑ์ เยลลี่ชาตัวหอม กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่า เรามีความสนใจอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอยู่แล้วจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ หลังจากเรียนจบเราได้ประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีม มีการจัดการะบวนความคิดตามลำดับเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น เพราะเราพึ่งอยู่ปี 2 ลำดับความคิดของเรายังเด็กอยู่ เมื่อเราได้เรียนรู้ก็ทำให้มองเห็นภาพรวมของการกระบวนการการผลิตและจำหน่ายมากขึ้น ไม่ใช่ว่ามีผลิตภัณฑ์แล้วเราจะจำหน่ายได้เลยต้องมีขั้นตอนในการบริหารจัดการ การออกแบบ และการทำแผนธุรกิจอีกมากมาย ถือว่าได้พัฒนาตัวเองเป็นอย่างมาก
ด้านนายณภัทร สุขพล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลิตภัณฑ์ นมพืชเสริมโปรตีนจากไข่ผำ กล่าวว่า ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์สำหรับตนเองเป็นอย่างมาก เนื่องจากตนเองมีแนวคิดในอยาอยากพัฒนาผลิภภัณฑ์อาหารอยู่แล้ว ซึ่งถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็คงเป็นแค่แนวคิด ซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดสามารถทำได้หรือไม่ พอเข้าร่วมโครงการเราสามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถนำมาจัดแสดงหรือสามารถต่อยอดได้ในอนาคต
#สำนักข่าวการศึกษาไทย