จาก รปภ. สู่พนักงานอัยการ
“มิ้น” เผยเส้นทางพร้อมเคล็ดลับสอบบรรจุเป็นอัยการได้ในครั้งแรก
————-
>>> อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง มุ่งมั่นทำตามความฝันในอาชีพอัยการ ด้วยความขยันหมั่นเพียรและใฝ่รู้ใฝ่เรียน จนเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย สามารถสอบคัดเลือกเป็นพนักงานอัยการได้ตั้งแต่ครั้งแรก
>>> นายผดุงเกียรติ พรหมแก้ว หรือ “อัยการมิ้น” อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ.2565 (สนามใหญ่) ได้ลำดับที่ 47 กลุ่มที่ 1 สอบผ่านตั้งแต่ครั้งแรก ด้วยวัย 29 ปี
>>> เส้นทางของ “อัยการมิ้น” เริ่มต้นตั้งเป้าในการสอบเป็นอัยการ โดยสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ในปี 2556 จบการศึกษาปี 2558 เรียนจบเนติบัณฑิตปี 2560 ซึ่งในระหว่างสอบเนติบัณฑิต ได้สมัครเข้าทำงานเป็น รปภ. ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง (เวรกลางคืน) ประจำคณะมนุษยศาสตร์ เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงชีพและแบ่งเบาภาระครอบครัว พร้อมกับเป็นทุนในการเดินตามความฝันด้วย
>>> “รปภ. เป็นอาชีพแรกในชีวิตและมีส่วนช่วยให้เดินตามฝันได้อย่างไม่ลำบาก อย่างไรก็ตามการจะประจำการในหน้าที่ได้ จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตร รปภ. ก่อน และมีกฎระเบียบที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับมหาวิทยาลัย ก็ยังคงทำตามเป้าหมายในการสอบอัยการ โดยในขณะนั้นต้องทำงานควบคู่กับการสอบเนติบัณฑิตด้วย จึงต้องแบ่งเวลาทำงานและอ่านหนังสือเป็นสัดส่วน ตอนกลางวันพักผ่อนและอ่านหนังสือ ส่วนตอนกลางคืนเป็นเวลาทำงาน
หลังจากสอบเนติบัณฑิตได้ในปี พ.ศ. 2560 และสอบใบอนุญาตว่าความในปี พ.ศ. 2561 พร้อมทั้งสอบได้นายร้อยตำรวจพนักงานสอบสวน แต่ตัดสินใจสละสิทธิ์ เพราะเป้าหมายที่ตั้งใจคือการเป็นพนักงานอัยการ จึงทำงานเป็น รปภ. ต่อ เพื่อเก็บเงินให้ได้จำนวนหนึ่ง เมื่อมีทุนเพียงพอแล้ว จึงขอพักงาน รปภ. 3 เดือน ไปสมัครฝึกงานที่สำนักงานสุรพงศ์อัมพันศิริรัตน์ทนายความ มีหน้าที่จัดทำเอกสารและช่วยว่าความ สะสมประสบการณ์การว่าความให้ครบ 20 คดี” อัยการมิ้น กล่าว
>>> ‘อัยการมิ้น’ ฝึกงานที่สำนักงานสุรพงศ์อัมพันศิริรัตน์ทนายความ 3 เดือน แล้วกลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นรปภ. ที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยขณะฝึกงานนั้นยังมีประสบการณ์การว่าความไม่ครบ 20 คดี ซึ่งเกณฑ์การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย กำหนดว่าผู้สอบต้องผ่านการว่าความ 20 คดี และใบอนุญาตว่าความจะต้องมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ทำให้มีเวลาเก็บคดีได้จนถึง ปี พ.ศ. 2563 อัยการมิ้น ใช้เวลาในช่วงกลางวัน ไปประจำที่ศาลแพ่งมีนบุรี (ชื่อเดิม ศาลมีนบุรี) เพื่อขอเป็นทนายความร่วม รับผิดชอบเรื่องการทำเอกสารและเป็นทนายว่าความในคดีนั้น ๆ จนครบ 20 คดี แล้วจึงอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบอัยการ
>>> ปัจจุบัน นายผดุงเกียรติ พรหมแก้ว หรือ “อัยการมิ้น” ข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ประจำสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ จากการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ.2565 (สนามใหญ่) รุ่นที่ 64 ซึ่งเป็นการสอบอัยการครั้งแรกด้วย
“การสอบได้อัยการตั้งแต่ครั้งแรก คือผลลัพธ์ของความพยายามทุ่มเท ด้วยศรัทธาในอาชีพอัยการ ว่าเป็นอาชีพที่มีความตรงไปตรงมา เป็นการเจรจาว่าความด้วยเหตุและผล ก็มีความใฝ่ฝันว่าอยากทำงานในตำแหน่งอัยการ โดยจะดำรงอาชีพอย่างมีเกียรติ จึงตั้งเป้าหมายและพยายามตั้งแต่ตอนนั้น จนทำตามความสำเร็จได้
>>> ขอบคุณ ม.รามคำแหง ที่ให้โอกาสทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียม ขอบคุณคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่มอบความรู้ด้านกฎหมาย ซึ่งถือเป็นตำรากฎหมายเล่มแรกในชีวิต ทำให้มีความรู้และเรียนจบภายใน 2 ปี อีกทั้งยังให้อาชีพเลี้ยงตน โดยตลอดระยะการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่มหาวิทยาลัย ได้รับความรักและการช่วยเหลือจากอาจารย์ พนักงาน และเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างดี รวมทั้งสนับสนุนให้ทำตามเป้าหมายทั้งให้กำลังใจและให้คำแนะนำอย่างดีเสมอมา”
>>> นอกจากนี้ ‘อัยการมิ้น’ ยังเผยเคล็ดลับการสอบบรรจุเป็นข้าราชอัยการได้ในครั้งเดียว ว่าสิ่งสำคัญคือการมีเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญต้องเข้าใจตัวบทกฎหมายอย่างถูกต้อง เริ่มจากการตั้งใจเรียนและอ่านหนังสือให้มากที่สุด
>>> สำหรับหลักการอ่านหนังสือเพื่อสอบกฎหมายตั้งแต่ ป.ตรี จะใช้หนังสือหลักของวิชานั้น ๆ เพียง 1 เล่ม โดยการอ่านคร่าว ๆ ในรอบแรกเพื่อให้ทราบเนื้อหาทั้งหมดก่อน ซึ่งจะเริ่มไฮไลท์หัวข้อสำคัญในการอ่านครั้งที่ 2-3 พร้อมอ่านเนื้อหานั้นอย่างละเอียด จึงเริ่มเขียนหรือพิมพ์เนื้อหาสรุปลงในสมุดตามที่ตัวเองเข้าใจ นอกจากนี้ควรอ่านหนังสืออื่นเพิ่มเติม เช่น ตัวอย่างการพิจารณาคดีแปลก ๆ ซึ่งจะมีเนื้อหาแตกต่างจากหนังสือเรียน ที่มีเกร็ดความรู้ดี ๆ มีตัวอย่างการว่าความที่เป็นประโยชน์มาเสริมกับสรุปที่ได้จากหนังสือเรียน แล้วใช้สรุปล่าสุดนี้ในการอ่านเตรียมสอบและอ่านซ้ำอย่างน้อยวิชาละ 10 รอบ
>>> อัยการมิ้น กล่าวฝากถึงรุ่นน้องว่า สำหรับการเดินไปสู่อาชีพอัยการ เป็นการเดินทางที่ยาวนาน ใช้ความอดทนสูง สิ่งสำคัญคือการวางเป้าหมายและวางแผนการเดินทางแต่ละขั้นจนถึงจุดหมาย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเดินทางบนเส้นทางเดียวกัน หวังว่าจะประสบความสำเร็จ ได้ใช้ความรู้ความสามารถทำหน้าที่อัยการอย่างภาคภูมิใจ
…