ลูกสาวคนเดียวของบ้าน พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบม.6 สายวิทย์ และอาจมีประสบการณ์เหมือนคนวัยเดียวกันอีกจำนวนมาก ที่ช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ไม่รู้ว่าจะไประดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาอะไร
“คนสมัยก่อน ถ้ายังไม่รู้ว่ามีความชอบอะไรชัดเจน มักมีความคิดให้ลูก-หลาน เรียนสายวิทย์ แล้วไปเลือกเอาข้างหน้า สำหรับตัวเองก็เหมือนกัน พอจบ ม.6 สายวิทย์ แล้ว ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อดี เรียนหมอคงไม่ไหว พยาบาลก็กลัวผี เลยเลือกเรียนคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ที่มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ถามว่า ตอนนั้นรู้มั้ยว่าเป็นวิชาอะไร บอกตรงๆ ไม่รู้”
คุณปุย-กาญจนรัตน์ วัฒนบวรวงค์ ศิษย์เก่าคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของเรื่องราว เริ่มต้นอย่างนั้น พร้อมหัวเราะอารมณ์ดี
ก่อนคุยให้ฟังต่อ แต่พอได้เข้าไปเรียนแล้ว รู้สึกชอบในศาสตร์นี้ เพราะมีความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเธอใช้เวลาเรียน 4 ปี จึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
“คนเรียนสายนี้ จะส่งต่อความเชื่อกันมารุ่นต่อรุ่น ถ้าเรียนจบจากสาขานี้จะทำอาชีพได้ 2 อาชีพ คือ เป็นนักกายภาพบำบัดประจำโรงพยาบาล หรือไม่ก็เปิดคลินิกของตัวเอง แต่สำหรับตัวเราเอง หากต้องดูแลคุณแม่สูงอายุ ด้วยเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 4 พันกว่าบาท คงไม่พอ เลยคิดว่าต้องหางานอะไรที่ได้ค่าตอบแทนมากกว่านั้น พอดีมีรุ่นพี่ ม.รังสิต แนะนำให้ไปสมัครงานในสปา ที่รับแต่นักกายภาพบำบัด ได้เงินเดือนค่อนข้างสูง” คุณปุย ย้อนความหลังให้ฟัง
นับตั้งแต่นั้น คุณปุย จึงเข้าสู่อาชีพ “นักกายภาพบำบัด สายสปา” มาโดยตลอด เริ่มจากสปอร์ตคลับ พรีเมียมเกรด ในประเทศ ก่อนลัดฟ้าไปทำงานใน Wellness บนเกาะมัลดีฟส์ กระทั่งปัจจุบัน เธอรั้งตำแหน่ง Wellness Training Manager อยู่ที่คามาลายา Wellness หรู ตั้งอยู่บนเกาะสมุย ซึ่งปัจจุบันได้ค่าตอบแทนการทำงานขั้นหลักแสนบาทเลยทีเดียว
“ที่ผ่านมามีค่านิยมว่า นักกายภาพบำบัดต้องทำงานด้านกายภาพบำบัดอย่างเดียว จะไปทำงานนวดไม่ได้ อาจเพราะสมัยก่อนคนยังไม่ค่อยเข้าใจความเป็นสปา คิดว่าการทำงานสปาเหมือนหมอนวด ทั้งที่การนวดตามหลักวิชานั้น นับเป็นการกายภาพบำบัดอย่างหนึ่ง ตัวเองจึงอาจเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่มีความคิดแหวกแนว ไปทำงานในสปา เพราะมีเป้าหมายชัดเจน คือ รับเงินเดือน 3 เท่าจากที่นักกายภาพทั่วไปได้กัน” คุณปุย บอกตรงไปตรงมา
ชวนคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงาน คุณปุย นึกครู่หนึ่ง ก่อนบอก นักกายภาพบำบัดสายสปา ก็คือ พนักงานนวด เป็นงานที่ใช้แรงค่อนข้างหนัก ถ้าไม่พร้อมที่จะเหนื่อย หรือไม่พร้อมที่จะใช้แรงงานหนัก คงไม่รุ่ง
“ช่วงทำงานเมืองนอก ต้องนวดตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม นวดทั้งวัน ติดต่อกัน 6 วัน ได้หยุดอาทิตย์ละวันเดียว อาชีพนี้ต้องอดทนกับการทำงานหนัก และต้องทิ้งอีโก้ ออกไปบ้าง เพราะต้องยอมรับ หากเป็นการทำงานในโรงพยาบาล นักกายภาพคือผู้ให้ออเดอร์กับคนไข้ แต่ถ้าเป็นนักกายภาพสายสปา การบริการต้องมาก่อน บางครั้งจึงอาจเคยโดนมองแบบดูถูก แต่ถ้าคิดเสียว่า สิ่งนั้นไม่สำคัญ ยอมละอีโก้ไปบ้าง จะทำให้ทำงานต่อได้ ด้วยความรู้สึกไม่กดดัน” คุณปุย เผยความรู้สึก
เคยถูกมองแบบไม่ให้เกียรติอย่างนั้น รู้สึกอย่างไร เจ้าของเรื่องราว บอกยิ้มๆ
“ตอนทำงานแรกๆ เคยคิดถอดใจบ้าง แต่สุดท้ายบอกกับตัวเองอย่าไปสนใจ พรุ่งนี้เขาก็กลับบ้านไปแล้ว เขาเป็นแค่คนที่เดินผ่านมาในชีวิต เดี๋ยวก็ผ่านไป ถ้าไปแคร์มากจะทุกข์เอง ถ้าไม่อยากทุกข์ไม่ต้องไปแคร์ และคิดเสมอ ต้องนำปัญหามาสร้างให้เป็นแรงผลักดัน แล้วชีวิตจะสนุก”
สนทนามาถึงตรงนี้ มีประเด็นสงสัย ความต้องการแรงงาน “นักกายภาพบำบัด สายสปา” มีแนวโน้มอย่างไร คุณปุย ในฐานคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงมานับสิบปี วิเคราะห์ให้ฟัง ช่วงนี้ Wellness Industry กำลังเติบโตทั่วโลก กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการใช้บริการ มีทั้งผู้สูงอายุ และผู้ใส่ใจสุขภาพที่ต้องการป้องกันก่อนที่จะป่วย
อย่างไรก็ตาม Wellness ที่แท้จริงนั้น คือ การดูแลสุขภาพองค์รวมครบถ้วน ทั้ง จิตใจ ความคิด อาหารการกิน ซึ่งในประเทศไทย อาจยังมีโมเดลธุรกิจไม่ชัดเจนนักที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาเรียนรู้ ล่าสุด ทางคามาลายา เกาะสมุย ซึ่งเป็นต้นสังกัดที่เธอทำงานอยู่ ในตำแหน่ง Wellness Training Manager จึงทำ MOU กับทางมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ได้มาฝึกงานเป็นที่สุดท้าย และหลังจากนั้นหากอยากร่วมงานกันก็ยินดี
พูดคุยมาถึงตรงนี้ ขอถามถึงความรู้สึกต่อมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ คุณปุย กล่าวน้ำเสียงปลาบปลื้ม ว่า
“มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ไม่ได้มีแค่วิชาการ อาจารย์ทุกท่านให้ความรู้แบบเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นครอบครัว ให้ความรักความอบอุ่น ความเป็นกันเอง ให้คำแนะนำได้ตลอด ช่วงที่มีโครงการจะทำ MOU ทางคามาลายา ให้อำนาจในการเลือกสถานที่ จึงเลือกม.รังสิต เพราะมั่นใจในความรู้ความสามารถที่แน่นพอ ไม่เป็นรองใคร”
ถึงวันนี้ คุณปุย นับว่ามีหน้าที่การงานเป็นที่ยอมรับ จึงขอให้ช่วยส่งท้ายบทสนทนา เกี่ยวกับหลักคิดในการทำงาน ศิษย์เก่า ม.รังสิต ท่านนี้ บอกว่า
“Passion สำคัญ เป็นแรงผลักดันบอกตัวแองว่าต้องทำให้ได้ ถ้ามี Passion จะทำให้อะไรก็สำเร็จ แต่ถ้าไม่มี ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน คติประจำใจที่ทำให้ผ่านมาได้ถึงวันนี้ คือ ไม่มีไม่ได้ ต้องมีเท่านั้น”
#สำนักข่าวการศึกษาไทย