ใครที่เป็นสายหลงใหลงานด้านการผลิตสื่อประเภทเสียง วันนี้จะพาทุกคนไปพูดคุยกับ 2 อาจารย์ที่สอนทางด้านระบบเสียง และมีผลงานที่มีชื่อเสียงมากมาย โดยพูดคุยเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงานทางด้านนี้ และที่วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต คุณจะได้เรียนในทุกกระบวนการของการผลิตเสียง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน โฆษณา ดนตรี รวมไปถึงสื่อดิจิทัลทุกแพลตฟอร์ม
อาจารย์จุลสิทธิ์ ดิเรกกิจ เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานด้านเสียงว่า เริ่มต้นเมื่อปี 2538 ที่บริษัท ซีเนซาวด์ เป็นบริษัทในเครือของบริษัทสยามสตูดิโอ โดยเป็นบริษัทรับทำและออกแบบเสียงในงานภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณารวมไปถึงการประพันธ์เพลงให้กับงานผลิตทุกประเภท และภายหลังในปี 2540 ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้านภาพยนตร์และการออกแบบเสียง และได้มีประสบการณ์ในการทำงานในสตูดิโอและงานภาคสนามในหลายส่วนกับทางสถานศึกษา กระทั่งปี 2548 กลับมาทำงานต่อที่ประเทศไทยกับบริษัท GMM แกรมมี่ โดยรับงานอิสระกับทางทรู วิชั่น ในรายการ อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ตั้งแต่ซีซั่น 3-12 ในตำแหน่ง Sound Co-Ordinator โดยมีผลงานที่ได้รับความสนใจและประสบคามสำเร็จ ได้แก่ โฆษณาของ ปตท. ชุดก้อตซิล่า แก๊สโซฮอลล์ เป็นงานที่ได้ลงมือทำในส่วนของการทำเสียง โดยรับผิดชอบทุกส่วนของงาน
“จากสิ่งที่ชื่นชอบสู่การเรียนรู้เพิ่มเติมและประสบการณ์การทำงานด้านนี้ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต โดยมองว่าความสำคัญของการใช้เสียงในงานภาพยนตร์ การใช้โปรแกรมต่างๆ สิ่งที่ควรต้องรู้เกี่ยวกับการทำงานเทคนิคด้านเสียง ใน
ฐานะที่ยังคงทำอยู่ในวิชาชีพและการศึกษา การพัฒนาตัวเองในเรื่องของการเรียนรู้ในเรื่องของโปรแกรม ซอฟต์แวร์ต่างๆ สำคัญมาก และต้องศึกษาหาข้อมูลและนำมาใช้ให้ทันกับยุคสมัยตลอดเวลา ส่วนในโลกของภาพยนตร์และเสียงงานทั้งสองส่วนเป็นงานเนื้อเดียวกันแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่แยกออกจากกัน ดังนั้น สำหรับคนที่สนใจในศาสตร์นี้จะต้องมีพื้นฐานทั้ง 2 องค์ความรู้ใน 2 ศาสตร์นี้ ซึ่งปัจจุบันการประกอบอาชีพด้านเสียงกับงานนิเทศศาสตร์ สามารถทำได้หลากหลาย อาทิ นักออกแบบเสียงในงานภาพยนตร์(Sound Designer) นักผสมเสียง(Sound Engineer) นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ (Music Composer) ผู้กำกับงานเสียงภาคสนาม (Sound Co-Ordinator) เป็นต้น” อาจารย์จุลสิทธิ์ กล่าว
อาจารย์จักรกฤช บัวเอี่ยม เล่าว่า หลังเรียนจบด้านนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต ได้ไปทำงานด้านกราฟิกดีไซน์กับบริษัทหนังแห่งหนึ่ง โดยออกแบบโปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว หนังต่างๆ ที่เข้าโรงฉาย หลังจากนั้นไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจกลับมาตั้งหลักที่เมืองไทย โดยมาเริ่มนับหนึ่งและเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ที่บริษัท เกคโค สตูดิโอ คอมเพล็กซ์ จำกัดจากคนทำทีวีสู่การทำงานด้าน Sound Engineer เป็นสถาบันสอนเกี่ยวกับ Sound Engineer โดยเริ่มแรกเป็นค่ายเพลง และผันตัวเองมาทำหนัง เพราะหนังที่เข้ามาเมืองไทย ต้องแปลเป็นภาษาไทย พากย์ภาษาไทย ก็เอามาทำที่บริษัทนี้ ประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายทำให้ได้เรียนรู้มากมาย กระทั่งเชี่ยวชาญและมีโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายงาน และได้มีโอกาสทำโปรเจกต์ใหญ่ของประเทศ เป็นอีเว้นท์หนึ่งที่ผมประทับใจที่สุดและไม่มีวันลืม เป็นงานเกี่ยวกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชันของไทย ภายใต้บริษัทเพื่อนแก้ว ได้ผลิตการ์ตูนแอนิเมชันเรื่อง พระมหาชนก เพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 นับเป็นก้าวสำคัญของการทำงานด้านนี้
“ในปี 2562 ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าและความภาคภูมิใจคือ รางวัลสุพรรณหงษ์ สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยมกับผสมเสียงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยเรื่อง 9 ศาสตรา ซึ่งตนเองนั้นได้รับในส่วนของบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีกับการทำงานด้าน Sound Engineer มา เป็นงานที่ท้าทายมาก และปัจจุบันก็มีโอกาสได้นำความรู้ทางด้าน Sound มาสอนให้แก่น้องๆ นักศึกษาวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ และในส่วนของผลงานด้านการทำซาวด์ก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ให้ทุกคนได้ติดตาม” อาจารย์จักรกฤช กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับน้องๆ นักเรียน ที่สนใจการทำงานด้านเสียง ด้านนิเทศศาสตร์ ต้องบอกว่าที่วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ คุณจะได้เรียนรู้ และสนุกไปกับการใช้ทักษะด้านการสร้างสรรค์สื่อ และการใช้เครื่องมือ โปรแกรม ซอฟต์แวร์ในด้านเสียงและการตัดต่อ ผสานเข้ากับศาสตร์ทางด้านศิลปะในเชิงสร้างสรรค์ทางด้านเพลง ภาพยนตร์ และที่นิเทศรังสิต เราพร้อมที่จะให้ความรู้แบบเต็มที่
#สำนักข่าวการศึกษาไทย